TU กำไร1,937ล้านบ. Q3/64 มุ่งธุรกิจหลากหลาย-มาร์จิ้นสูง

HoonSmart.com>>”ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” เปิดผลงานไตรมาส 3/64 กำไร 1,936.79 ล้านบาท ลดลง 5.81% จากปีก่อน โชว์ความแข็งแกร่ง ยอดขาย-อัตรากำไร-ตลาด รวม 9 เดือน กำไร 6,082.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% มุ่งธุรกิจที่มีอัตราทำกำไรสูง เพิ่มความหลากหลาย ลงทุนเชิงกลยุทธ์ RBF-SFLEX เสริมแกร่งระยะยาว ตั้งเป้าบริหารการเงินให้เชื่อมโยงความยั่งยืนถึง 50%ในปี 65 ดูแลสิ่งแวดล้อมใช้บรรจุภัณฑ์ รีไซเคิล ย่อยสลายได้ทั้งหมด ในปี 68

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) รายงานผลประกอบการในไตรมาส 3/ 2564 มีกำไรสุทธิ 1,936.79 ล้านบาท ลดลง 119.37 ล้านบาท หรือ 5.81% เทียบกับกำไรสุทธิ 2,056.16 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลงประมาณ 17.33% จากไตรมาสที่ 2/2564 ที่มีกำไรสุทธิ 2,342.87 ล้านบาท โดยรวม 9 เดือนปีนี้กำไรสุทธิ 6,082.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1293.94 ล้านบาท หรือ 27.02% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 4,788.61 ล้านบาท

นาย ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงแข็งแรงด้วยยอดขายเติบโตต่อเนื่อง และกลยุทธ์ธุรกิจที่เน้นความหลากหลาย สอดรับกับสถานการณ์โลกที่เริ่มคลี่คลาย และมีการดำเนินชีวิตปกติในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น ทั้งการกลับเข้าทำงานในสำนักงาน การรับประทานอาหารในร้านอาหารและกิจกรรมนอกบ้าน โดยไตรมาสที่ 3/2564 มียอดขาย 35,539 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% เทียบกับปีก่อน กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 6,391 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% แม้กำไรสุทธิจะลดลง แต่ยังคงทำผลงานได้อย่างเข้มแข็ง

สำหรับภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือซึ่งถือเป็นตลาดที่สำคัญ สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ผ่อนปรนจากการล็อคดาวน์และข้อจำกัดต่างๆ ผู้บริโภคจึงจับจ่ายสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องน้อยลง ส่งผลให้ธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง มียอดขาย อยู่ที่ 14,954 ล้านบาท ลดลง 8 % อย่างไรก็ดี ร้านอาหารต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดให้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ทำให้ยอดขายของธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นเติบโตขึ้นถึง 11%อยู่ที่ 14,843 ล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าเพิ่มมูลค่า รวมถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์และสินค้าอื่นๆ ยังคงมียอดขายที่แข็งแกร่ง เติบโต 11.4% อยู่ที่ 5,742 ล้านบาท

ส่วนผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2564 นั้น มียอดขายอยู่ที่ 102,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6%

“ไทยยูเนี่ยนยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 โดยธุรกิจหลัก ทำผลงานได้ดีสม่ำเสมอ ผู้บริโภคได้ให้ความเชื่อมั่นในสินค้า ที่เน้นสุขภาพและโภชนาการ ผมรู้สึกภูมิใจที่แม้สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายลง แบรนด์และสินค้าของเราก็ยังได้ความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯยังคงเดินหน้าขยายไปยังธุรกิจที่มีอัตราการทำกำไรที่สูงขึ้น และสอดคล้องไปกับเป้าหมายในการที่จะดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คนไปพร้อมกับการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้อุดมสมบูรณ์ต่อไป”นายธีรพงศ์กล่าว

นอกจากนี้ TU ยังคงให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ธุรกิจที่เน้นความหลากหลาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลงานเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ในเดือนก.ย.2564 บริษัทได้ประกาศเข้าลงทุนเชิงกลยุทธ์ 10% ในบริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร ทั้งวัตถุแต่งรส สี และสารปรุงแต่งอาหารหลากหลายชนิด รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในนวัตกรรมผลิตส่วนผสมในอาหารต่างๆ เช่น วัตถุแต่งกลิ่นธรรมชาติ หรือสารสกัดจากกัญชง จะช่วยเสริมทั้งสินค้าหลักและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของไทยยูเนี่ยน รวมไถึงสินค้าโปรตีนทางเลือกและอาหารสัตว์เลี้ยง

ในเดือนเดียวกันนี้บริษัทยังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ (SFLEX) ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนคุณภาพสูง เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุน และความร่วมมือนี้จะมีส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของไทยยูเนี่ยนในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ รีไซเคิลและย่อยสลายได้ ทั้งหมด 100%สำหรับผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัท ภายในปี 2568

ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการยอมรับในด้านความสามารถในการแข่งขันและความแข็งแกร่งของธุรกิจ ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากบริษัททริส เรทติ้ง อยู่ที่ระดับ A+ ด้วยแนวโน้มเป็นบวก และได้รับการจัดอันดับเครดิตจาก Japan Credit Rating อยู่ที่ระดับ A- ซึ่งเป็นการจัดอันดับเครดิตองค์กร สำหรับตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ  แนวโน้มของเครดิตอยู่ในระดับคงที่ และอันดับเครติดองค์กร A- ที่บริษัทได้รับนั้นเป็นระดับเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้รับ ในฐานะผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลกที่มีธุรกิจกระจายตัวทั่วโลกและมีความมั่นคงทางรายได้

บริษัทยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยการเงิน Blue Finance หรือการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อมหาสมุทรและอุตสาหกรรมอาหารทะเลโดยรวม ในไตรมาส 3 นี้ บริษัทได้ออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนอายุ 7 ปีในประเทศไทยและมียอดจองซื้อมากกว่า 2.23 เท่า โดยเมื่อต้นปีไทยยูเนี่ยนได้ออกสินเชื่อส่งเสริมความยั่งยืนในประเทศไทยและญี่ปุ่น

“ไทยยูเนี่ยนยังคงดูแลการเงินอย่างต่อเนื่องและตอบรับนวัตกรรมทางการเงิน ด้วยกลยุทธ์ Blue Finance เราได้ตั้งเป้าในการบริหารจัดการการเงินของบริษัทให้เชื่อมโยงกับความยั่งยืนได้ถึง 50%ภายในปี 2565” นายธีรพงศ์กล่าว

ในไตรมาสที่ 3/2564  ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัท สงขลาแคนนิ่ง เป็นบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น เพื่อรองรับการพัฒนาและขยายกิจการในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงในไตรมาส 3 ไทยยูนี่ยนยังคงเดินหน้าดูแลชุมชนอย่างต่อเนื่อง  นับตั้งแต่เดือนเม.ย.-ส.ค. 2564 บริษัทได้มอบอาหารมากกว่า 326,000 ชุดให้กับชุมชน ภายใต้โครงการไทยยูเนี่ยนแคร์  และยังได้ส่งมอบอาหารมากกว่า 3.3 ล้านชุดให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วโลก และมอบอาหารแมวเบลล็อตต้า และอาหารสุนัขมาร์โว่ ไปแล้วกว่า 78,000 กระป๋อง และอาหารสุนัขชนิดเม็ดมากกว่า 4,000 กิโลกรัม ให้กับสถานที่พักพิงสัตว์ องค์กรสัตว์เลี้ยง และอาสาสมัครทั่วประเทศไทย