HoonSmart.com>>กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 32.90-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ติดตามรายงานตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ, ผลการประชุม กนง.
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.90-33.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงดอกเบี้ยนโยบายในกรอบ 0-0.25% และประกาศลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ลง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนจาก 1.2 แสนล้านดอลลาร์ โดยจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ดี อัตราการลด QE ยังคงขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ประกาศคงดอกเบี้ย สวนทางกับที่ตลาดคาดไว้ว่าบีโออีจะเป็นธนาคารกลางชั้นนำแห่งแรกของโลกที่ขึ้นดอกเบี้ยหลังเหตุการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ กรรมการ 7 ใน 9 รายลงมติคงดอกเบี้ยในรอบนี้ ส่วนอีก 2 รายโหวตให้ขึ้นดอกเบี้ย 15bp ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 1,472 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 5,366 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ และสุนทรพจน์ของประธานเฟด หลังจากที่ในการประชุมรอบล่าสุดเฟดยอมรับว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงจนน่ากังวลซึ่งเป็นผลของปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปจนถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ยิ่งไปกว่านั้น ประธานเฟดยอมรับว่าภาวะเงินเฟ้อมีความไม่แน่นอนสูง
โดยเฟดวางแผนจะปรับลด QE จนหมดราวกลางปี 2565 ส่วนประเด็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย ประธานเฟดระบุว่าเฟดจะใช้ความอดทนต่อไป และจะรอให้การจ้างงานเติบโตขึ้นมากกว่านี้ กรุงศรีตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการตอบสนองของตลาดต่อตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนตุลาคมของสหรัฐฯที่ดีเกินคาดแต่กลับส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรร่วงลง สะท้อนว่าแม้ในภาพใหญ่อัตราดอกเบี้ยโลกเป็นขาขึ้นแต่นักลงทุนกำลังทบทวนมุมมองครั้งใหม่หลังจากที่ก่อนหน้านี้คาดว่าธนาคารกลางหลายแห่งจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าว โดยผลการประชุมบีโออีได้จุดประกายให้บอนด์ยิลด์ทั่วโลกปรับฐานลง
สำหรับประเด็นในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงดอกเบี้ยที่ 0.50% ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ขณะที่แนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น อนึ่ง กรุงศรีมีมุมมองเชิงบวกต่อค่าเงินบาทจากประเด็นผลทดลองยารักษา COVID-19 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ส่วนเงินเฟ้อไทยยังไม่ใช่ข้อกังวลสำหรับผู้ดำเนินนโยบาย ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น 2.38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขี้นและผลกระทบจากอุทกภัยหนุนราคาผักสด โดยกระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะมีค่าเฉลี่ยที่ 1%