ธุรกิจประกันชีวิต Q3 เบี้ยรับโต 2.28%

HoonSmart.com>>ธุรกิจประกันชีวิตไตรมาส 3 เบี้ยรับรวมแตะ 439,181.91 ล้านบาท โต 2.28% ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนโตสูงสุด 88.86% การขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตยังเป็นช่องทางหลัก นายกสมาคมประกันชีวิตไทยยันสมาชิกเงินกองทุนแข็งแกร่ง 323%

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ไตรมาส 3 ปี 2564 (มกราคม – กันยายน ) ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 439,181.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.28% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 123,132.24 ล้านบาท เติบโต 7.42% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 316,049.67 ล้านบาท เติบโต 0.41% และมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิต 81%

สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย
(1) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก 67,401.62 บาท ลดลง 9.61%
(2) เบี้ยประกันภัยรับชำระครั้งเดียว 55,730.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.12%

โดยจำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวมตามช่องทางการจำหน่าย ดังนี้
อันดับ 1 การขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต 217,489 ล้านบาท ลดลง 0.47% มีสัดส่วน 49.52 % ยังคงถือเป็นช่องทางการขายหลักของธุรกิจประกันชีวิต
อันดับ 2 การขายผ่านธนาคาร 183,117 ล้านบาท เติบโต 5.68% มีสัดส่วน 41.70%
อันดับ 3 การขายผ่านช่องทางนายหน้า 19,383 ล้านบาท เติบโต 3.26% มีสัดส่วน 4.41%
อันดับ 4 การขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ 10,599 ล้านบาท เติบโต 1.53% มีสัดส่วน 2.41%
อันดับ 5 การขายผ่านช่องทางอื่น ๆ 8,015 ล้านบาท เติบโต 3.38% มีสัดส่วน 1.83%
อันดับ 6 การขายผ่านช่องทางดิจิทัล 550 ล้านบาท ลดลง 6.73% มีสัดส่วน 0.13%
อันดับ 7 การขายผ่านช่องทางไปรษณีย์ 29 ล้านบาท ลดลง 16.43% มีสัดส่วน 0.01%

ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Investment Link) ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 34,525 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่สูงถึง 88.86% และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพ (Health) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 58,960 บาท เติบโต 9.28% และสัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรง (CI) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 11,428 ล้านบาท เติบโต 6.53% และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 6,424 ล้านบาท เติบโต 4.37%

สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ภาคธุรกิจประกันชีวิตยังต้องเผชิญกับโอกาสและความท้าทายรอบด้าน แต่ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการได้ทุกกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไปควบคู่กับพัฒนาช่องทางการขายรูปแบบดิจิทัลและการบริการผ่านระบบออนไลน์ พัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ธุรกิจประกันชีวิตให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ไว้วางใจ

“บริษัทประกันชีวิตทุกบริษัท ยึดมั่นในข้อตกลงตามสัญญาที่ได้ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกราย และพร้อมที่จะปฏิบัติติตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยจนครบกำหนดสัญญา สะท้อนให้เห็นจากการที่ธุรกิจประกันชีวิตมีความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ด้วยอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ 323% ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปี 2564(ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงาน คปภ.) สูงกว่าระดับเงินกองทุนที่กฎหมายกำหนดที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ที่ 120% ”นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าว