ปลดล็อกประเทศหนุนธุรกิจ”ร้านอาหารให้บริการเต็มรูปแบบ”รายได้เพิ่ม 2,000 ลบ.

HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุรัฐผ่อนคลายมาตรการ ธุรกิจร้านอาหารให้บริการเต็มรูปแบบรายได้เพิ่มประมาณ 2,000 ล้านบาทจากคาดการณ์เดิม และมูลค่าทั้งปีแตะ 1.13 แสนล้านบาท หดตัว 28.5% จากปี 2563 ส่วนปี 2565 ฟื้นตัว 26.5% หากไม่มีล็อกดาวน์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐ เช่น การเปิดให้นั่งทานอาหารในร้าน การปรับลดพื้นที่เคอร์ฟิว และการเปิดให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อกลุ่มธุรกิจร้านอาหารประเภท Full-Service Restaurants ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มออกไปทานอาหารและใช้เวลาในร้านอาหารมากขึ้นหรือถี่ขึ้น คาดว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายที่เหลือของปี 2564 จะมีจำนวนต่อครั้ง (โต๊ะ) เพิ่มขึ้นถึง 7% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 10 เดือนแรกของปี การเพิ่มขึ้นของยอดการใช้จ่ายจากระยะเวลาในการใช้บริการต่อครั้งที่นานขึ้น ทำให้มีการสั่งอาหารรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาทจากคาดการณ์เดิม และมีมูลค่าทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 1.13 แสนล้านบาท หดตัว 28.5% จากปี 2563

แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารปี 2565 น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ 26.5% จากปัจจัยหนุนที่มีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนคลายมาตรการของทางการ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และหากสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศดีขึ้น หรือไม่มีการกลับมาระบาดจนทำให้ทางการต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมอีก น่าจะช่วยให้ธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง หลังจากหดตัวอย่างรุนแรงต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมองการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารให้บริการเต็มรูปแบบ เป็น 2 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 สถานการณ์โควิดมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่อเนื่องและการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ตามแผนของภาครัฐ ผู้บริโภคในประเทศมีความเชื่อมั่นในการเข้าใช้บริการ มีการเปิดประเทศนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น ส่งผลให้มีการขยายตัวต่อเนื่องของจำนวนความถี่ในการนั่งทาน และทำให้จำนวนต่อครั้ง (โต๊ะ) ในปี 2565 มีจำนวนประมาณ 204 ล้านครั้ง (โต๊ะ) รวมถึงมีการขยายตัวของยอดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 4.2% และทำให้ตลาดธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบจะมีมูลค่ายอดขายรวมในกรณีพื้นฐานอยู่ที่ประมาณ 1.43 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 26.5%

กรณีที่ 2 ภายใต้สมมติฐานที่มีการแพร่ระบาดครั้งใหม่เกิดขึ้นและมีการยกระดับของมาตรการควบคุม ไม่ให้จำหน่ายอาหารภายในร้าน แต่ไม่ได้มีการ Lock down จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และทำให้จำนวนต่อครั้งลดลงเหลือเพียงประมาณ 186 ล้านครั้ง (โต๊ะ) โดยประเมินว่าตลาดธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ จะเหลือมูลค่าประมาณ 1.29 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 14.2%
คาดว่าในปี 2565 ผู้ประกอบการรายใหญ่จะลงทุนเพิ่มเติมในแพลตฟอร์มธุรกิจร้านอาหารให้สามารถรองรับการทำตลาดทั้งในส่วนของการขายภายในร้าน การขายแบบ Delivery และการขายสินค้าระหว่างแบรนด์ในพอร์ทของตน (Cross-selling) มากยิ่งขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารรายเล็ก-กลาง คาดว่ายังคงดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและรอการกลับมาของลูกค้ากลุ่ม mass โดยคาดว่าจะมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป