Eastspring ชี้หุ้นจีนปรับฐานกว่า 30% จังหวะสะสมลุ้น Outperform ปี 65

HoonSmart.com>> “TMBAM Eastspring” ชี้หุ้นจีนปรับฐานลงกว่า 30% กังวลการจัดระเบียบของภาครัฐ ด้านกำไรบริษัทจดทะเบียนยังแกร่งคาดปี 65 เติบโตเหนือตลาดหุ้นทั่วโลก มองดัชนีฐานต่ำโอกาส Outperform จังหวะทยอยสะสม สัญญาณฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดหุ้นจีน “ด้านนักวิชาการ” ชี้จีนจัดระเบียบปีนี้จังหวะเหมาะก่อนเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ปี 65 พร้อมมาตรการกระตุ้นหนุนเศรษฐกิจสดใส

นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย (TMBAM Eastspring) กล่าวในงานสัมมนา ปรับพอร์ตหุ้นจีนอย่างไรเมื่อ “มังกร” รุกเกมใหม่ว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นจีนปรับฐานลงมากว่า 30% มองความเสี่ยงขาลงค่อนข้างจำกัด โดยดัชนีลงมาลึกใกล้คียงกับปี 2561 ที่เกิดข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ดัชนีหุ้นลดลง 33% และปี 2558 ดัชนีปรับตัวลง 35% หลังลดเงินหยวน จึงมองเป็นจังหวะในการทยอยเข้าลงทุน แม้จะมีความเสี่ยงในด้านนโยบายของภาครัฐอยู่บ้างก็ตาม


นอกจากนี้เริ่มเห็นสัญญาณเงินทุนเริ่มไหลเข้าตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงต่อเนื่องผ่านกองทุน ETF ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาเงินไหลเข้าสุทธิตลาดหุ้นจีน 1.8% ฮ่องกง 1.9% มากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไหลเข้า 1.1% และตลาดหุ้นพัฒนาแล้วที่ 1.2% ขณะที่ย้อนหลัง 3 เดือนเงินไหลเข้าตลาดหุ้นจีน 6.9% ฮ่องกง 9% เมื่อเทียบสหรัฐฯ ไหลและตลาดหุ้นพัฒนาแล้วไหลเข้า 2.9% สะท้อนมุมมองของนักลงทุนทั่วโลกเริ่มมองบวกต่อการลงทุนในจีนมากขึ้น รวมทั้งโบรกเกอร์ต่างประเทศอย่างโนมูระ ยูบีเอสเริ่มแนะนำให้ซื้อหุ้นจีน

“หุ้นจีนที่ปรับฐานลงมาจากความกังวลภาพระยะสั้นจากนโยบายของภาครัฐ แต่ในแง่ของกำไรยังเติบโตโดยในปี 2565 คาด MSCI China, CSI300, Star50 กำไรบริษัทจดทะเบียนน่าสนใจเติบโตในระดับสองหลักอยู่ที่ 16% , 16% และ 44% เมื่อเทียบตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว S&P500 เติบโต 8% MSCI World เติบโต 7% ดังนั้นหากยังเชื่อว่าราคาจะวิ่งตามกำไร เป็นโอกาสที่หุ้นจีนในปีหน้าอาจ Outperform ได้”นายบดินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ในอีก 1 วันอาจเห็นเฟดประกาศลดวงเงิน QE และหากไม่มีเงินไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ อาจเป็นจังหวะในการเข้าลงทุนทยอยสะสมกองทุนหุ้นจีน รวมถึงกองทุน SSF-RMF ลงทุนระยะยาว ถือว่าน่าสนใจในช่วงเวลานี้

นายบดินทร์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการลงทุนยังมีความผันผวนในหลายอุตสาหกรรมจากมาตการการกำกับกฎระเบียบของรัฐ ทำให้อนาคตจะมีอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวได้ แต่อาจไม่บูมหรือบางอุตสาหกรรมอาจตอบโจทย์เศรษฐกิจในอนาคต โดยยังมองบวก กลุ่มเฮลธแคร์ ยา ,ออโต้และภาคอุตสาหกรรม ส่วนกลุ่มคอนซูเมอร์, เทคโนโลยี,พลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์และการเงิน ยังมองน่าสนใจลงทุนระดับ Neutral

ด้านดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเข้ามาจัดระเบียบของทางการจีนในปีนี้ มองว่าเป็นจังหวะเหมาะสม ซึ่งจีนเองก็ส่งสัญญาณมาตั้งแต่เดือนมี.ค. แม้ธนาคารโลกคาดการณ์ GDP จีนจะเติบโต 8% แต่จีนตั้งเป้า 6% เพื่อมีช่องว่างสำหรับการปฏิรูปแม้จะเจ็บหนักในระยะสั้น แต่เกิดผลดีในระยะยาว และในเดือนพ.ย.2565 จะมีการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในรอบ 5 ปี เลือกตั้งผู้นำคนใหม่ คาดหมายสี่เจิ้นผินอยู่ต่อ แต่การเข้ามาจัดระเบียบในครั้งนี้มีมิติเรื่องการเมือง การควบคุม ความเห็นต่างก่อนเลือกตั้ง ปีหน้าก็จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับการกำกับภาคอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนภาพการเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจของจีนจากเดิมเติบโต 8-10% มาจากการลงทุนก่อสร้าง สร้างสนามบิน ถนนและอสังหาริมทรัพย์เป็นภาพใหญ่ของการลงทุนของจีน วันนี้จีนพยายามเปลี่ยนโมเดลการเติบโตจากการบริโภคสร้างชนชั้นกลางใหม่ 400 ล้านคน เพราะหากราคาบ้านแพงก็จะไม่มีเงินซื้อของ อีกทั้งจีนต้องการเป็นสังคมเทคโนโลยี 5.0 เทคโนโลยีใหม่ๆ ในภาคเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ และเปลี่ยนโมเดลจากเศรษฐกิจเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์มาเติบโตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น เพราะการเติบโตโดยอาศัยอสังหาริมทรัพย์ยากที่จะยั่งยืน

ดร.อาร์ม กล่าวว่า นักวิเคราะห์จีนแนะนำให้หลีกเลี่ยงภาคอสังหาริมทรพย์ ซึ่งต่างจากเทค โดยมองอสังหาริมทรัพย์จะซึมยาว ภาคอสังหาริมทรัพย์จะไม่ได้เป็นกลจักรหลักขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจของจีนอีกต่อไป แต่ความเสี่ยงของจีนอยู่ที่กลจักรขับเคลื่อนตัวใหม่จะขึ้นมาแทนรวดเร็วแค่ไหนทั้งการบริโภค เทคโนโลยี พลังงานสะอาด

“รัฐบาลจีนออกมาให้ความมั่นใจจะไม่มีฟองสบู่แตก แต่มองราคาจะไม่พุ่งต่อไปได้ หยุดการเก็งกำไร กดการกู้ยืมเงินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์กระทบการลงทุน ซึ่งทำให้ภาพอสังหาริมทรัพย์ซึมยาว แต่คงไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สิ่งที่จะมีผลตามมา คือ เงินลงทุนจำนวนมากจากนักลงทุนรายย่อยจะไหลไปในภาคอื่นจากเดิมอสังหาริมทรัพย์ก็จะเข้าตลาดหุ้นจีนมากขึ้น ขณะเดียวกันภาพเศรษฐกิจทั่วไปมองกันว่าเงินจะไหลเข้าไปในฮาร์ดเทคมากขึ้น ได้แก่ เซมิคอนดัคเตอร์ อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ซึ่งมาแรงในจีน”ดร.อาร์ม กล่าว

สำหรับวิกฤตพลังงานมองเป็นปัจจัยระยะสั้นเกิดจาก โลกฟื้นจากโควิดความต้องการพลังงานทั่วโลกมากขึ้น รวมถึงในจีน พร้อมกับฤดูหนาวทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นและจีนต้องนำเข้าพลังงาน ขณะที่นโยบายการลดการพึ่งพาถ่านหินทำให้ราคาถ่านหินสูงขึ้นกระทบเป็นลูกโซ่ แต่สิ่งที่น่าสนใจรัฐบาลจีนช่วยแก้ปัญหาระยะสั้น ใช้ถ่านหินเต็มที่ ขณะที่ในระยะยาวคูณสองพลังงานสะอาด ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ปัจจุบันจีนมีสถานีชาร์ตถยนต์ไฟฟ้มากถึง 8 แสนสถานีมากกว่าสหรัฐฯ ส่วนเทคโนโลยีแบตเตอรี่ การเก็บไฟ สายส่งพลังงาน ในจีนได้รับความสนใจอย่างมากจากรัฐบาลและการลงทุน

ขณะที่ในแผน 5 ปีของจีนยังมีประเด็นความมั่นคงของซัพพลายเชน วาระแห่งชาติอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ การพึ่งพาเศรษฐกิจขนาดตลาดใหญ่ในจีนมากขึ้น ทำให้เกิดเงิน รายได้ กำไรของบริษัททุ่มไปใน R&D มากขึ้นและการครองตลาดขนาดใหญ่ ส่งผลดีต่อพลังงานสะอาด

ดร.อาร์ม กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในปี 2565 จีนจะจัดโอลิมปิกฤดูหนาวเดือนมี.ค.และการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เดือนพ.ย. ซึ่งคาดว่าต้นปีจีนจะยังไม่เปิดประเทศทันทีในต้นปีหน้า แต่อาจมีการผ่อนคลายและน่าจะเปิดได้หลังเดือนมี.ค. ซึ่งจีนยังให้ความสำคัญกับความมั่นคงเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งจะมีการเลือกตั้งปีหน้าและปัจจุบันนักวิเคราะห์ทั่วไปมองว่าสี่เจิ้นผิงมีโอกาสสูงเป็นผู้นำต่อ และนโยบายที่ทำเพื่อปูทางเป็นระยะที่สาม นอกจากนี้ปีที่มีการประชุมใหญ่พรรคคิมมิวนิสต์ในรอบ 5 ปี จีนจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจหรือทำให้ภาพเศรษฐกิจเป็นบวก การจัดการจึงเกิดขึ้นในปีนี้และจากนี้จนถึงสิ้นปีไม่น่าจะมีมาตรการอะไร แต่จะเก็บกระสุนไว้ใช้ปีหน้าส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจก่อนการประชุม