ปริศนา “วิไล ตั้งคารวคุณ” ทิ้ง DPAINT 20 ล้านหุ้น ให้ใคร?

HoonSmart.com>>ใครถล่มหุ้น บริษัท สีเดลต้า (DPAINT) ทำนักลงทุนรายย่อยขาดทุนยับเยิน เฉลยออกมาแล้ว ….

“วิไล ตั้งคารวคุณ” เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ของบริษัทสีเดลต้า รายงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า ได้ขายหุ้นออกมาเกือบเกลี้ยงพอร์ต เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2564 รวม 20 ล้านหุ้น หรือ  8.6956% ของทุนเรียกชำระแล้ว คงเหลือหุ้นหลังการขายเพียง 2 ล้านหุ้น หรือ 0.8695%

สำหรับการขายหุ้นดังกล่าวของนางวิไล เป็นการขายหุ้นวันแรกที่หุ้น DPAINT เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) โดยไม่รู้ว่าขายให้ใคร แต่เป็นการขายในกระดานผ่านบล.ฟินันเซีย ไซรัส

DPAINT เริ่มต้นดีในตลาดหุ้น เป็นหนึ่งในหุ้น IPO ที่ได้รับการกล่าวขานว่า “สุดยอด ” เปิดโชว์ด้วยราคาซิลลิ่ง 200 % ที่ระดับ 22.50 บาท แจกกำไรก้อนใหญ่ให้แก่นักลงทุนจองซื้อ IPO ที่ 7.50 บาท แต่เมื่อยืนไม่ไหว ก็ไม่ว่ากัน ยอมรับได้ว่าราคาเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด ดิ่งลงมาลึก 11.50 บาท สวิงรุนแรง  11 บาท/วัน ปิดที่ 12.90 บาท เพิ่มขึ้น 5.40 บาทหรือ 72% ท่ามกลางการเก็งกำไรสนั่นถึง 6,662.76 ล้านบาท

แต่ใครจะคิดว่า”เจ้าของ” จะขายหุ้นออกมาแข่งในวันแรก ต้นทุนแตกต่างกันมาก นักลงทุนรายย่อยบาดเจ็บหนัก แต่ไม่น่าเจ็บใจเท่ากับรู้ตัวคู่แข่งว่าเป็นใคร

บริษัท สีเดลต้า มีกลุ่มนายอาจณรงค์ ตั้งคารวคุณ (สามีของวิไล) ถือหุ้นใหญ่รวมทั้งหมด 170 ล้านหุ้น สัดส่วน 73.91% หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ ไส้ในประกอบด้วย 1.บริษัท เดลต้า กรุ๊ป โฮลดิ้ง ถือมากที่สุด 60 ล้านหุ้น สัดส่วน 26.09% ตามด้วย นายอาจณรงค์ ,นางวิไล,นายรณฤทธิ์,น.ส.วาณุภัณฒ์ และนายอรรถพลถือเท่ากันคนละ 22 ล้านหุ้น จำนวน 9.57% และทั้ง 5 คนยังถือหุ้นใน บริษัท เดลต้า กรุ๊ป โฮลดิ้ง สัดส่วน 20%เท่ากัน

การตัดสินใจของ”วิไล” ครั้งนี้ ทำให้ “กลุ่มนายอาจณรงค์ ตั้งคารวคุณ”รวยน้อยลงนับพันล้านบาท และส่งผลกระทบต่อหุ้น DPAINT ในตลาดอย่างรุนแรง เมื่อข้อมูลออกมาสู่สาธารณชน วันที่ 2 พ.ย.2564 ราคาหุ้นไหลลงไปปิดต่ำสุดของวันที่ 9.45 บาท ร่วง 1.25 บาท คิดเป็น 11.68% นับว่าต่ำกว่าเป้าหมายปี 2565 ของ บล.ฟินินเซีย ไซรัส ให้ไว้ที่ 9.80 บาทและห่างจากเป้าหมายของ บล.หยวนต้าที่ 13.50 บาท

บริษัทตั้งราคาขายที่ 7.50 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) ถึง 32.80 เท่า คำนวณจากกำไรสุทธิในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (ก.ค.63-30 มิ.ย.64 )ที่ 0.23 บาทต่อหุ้น และคิดเป็นอัตรา่วนราคาต่อมูลค่าตามราคาบัญชี (บุ๊กแวลู) มากกว่า 7 เท่า คำนวณจากบุ๊กแวลูเพียง 1.03 บาทต่อหุ้น ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 หลังขาย IPO

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าราคาหุ้น DPAINT ควรจะลงไปถึงจุดใด