HoonSmart.com>> “เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” เปิดกำไรไตรมาส 3/64 จำนวน 197 ล้านบาท เติบโต 83% จากงวดปีก่อน กวาดรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 289 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66% ปริมาณซื้อขายหลักทรัพย์พุ่ง รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่ม หนุนงวด 9 เดือนกวาดกำไร 778 ล้านบาท โตแรง 172% รายได้กระฉูด ด้านพอร์ตลงทุนกำไรพุ่ง
บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2564 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2564 กำไรสุทธิ 196.91 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.09 บาท เพิ่มขึ้น 83% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 107.71 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.05 บาท
ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2564 กำไรสุทธิ 777.83 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.37 บาท เติบโต 172% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 285.75 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.14 บาท
บริษัทมีรายได้รวมในไตรมาส 3/2564 จำนวน 791.12 ล้านบาท เติบโตจากงวดปีก่อนอยู่ที่ 504.37 ล้านบาทและบริษัทมีรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ในไตรมาส 3/2564 จำนวน 288.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 เนื่องจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 2,088 ล้านบาท เป็น 3,652 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 155.69 ล้านบาท หรือ76% จากงวดปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากการเพพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมจัดการจัดจำหน่ายค่าธรรมเนียมที่ปรึกษาทางการเงิน ค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน ค่านายทะเบียนและค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนรวม
นอกจากนี้บริษัทมีกำไรและผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงินจำนวน 43.78 ล้านบาท ลดลง 17% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนนใหญ่เกิดจากการลดลงของกำไรจากตราสารอนุพันธ์ ขณะที่รายได้อื่นส่วนใหญ่มาจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
ด้านค่าใช้จ่ายรวม 545.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงานและค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ซึ่งเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับรายได้รวมของบริษัท
ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2564 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 285.75 ล้านบาท หรือ 172% โดยบริษัทมีรายได้รวม 2,719.78 ล้านบาท เติบโต 84% จากงวดปีก่อนอยู่ที่ 1,480.62 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 677.96 ล้านบาท หรือ 139% จากปีก่อนและมีรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 359.09 ล้านบาท หรือ 57% จากปีก่อน รวมทั้งมีกำไร (ขาดทุน) และผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงินที่สูงขึ้นเป็น 308.18 ล้านบาท จากงวดปีก่อนอยู่ที่ 130.41 ล้านบาท ในส่วนของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงานและค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับรายได้รวมของบริษัท