“อภิรัตน์ ธีระรุจินนท์” ลูกไม้ใต้ต้น TPLAS

HoonSmart.com>>เปิดแนวคิดการบริหารงาน สไตล์  “สอง – อภิรัตน์ ธีระรุจินนท์” ทายาทรุ่น 3 ของตระกูล “ธีระรุจินนท์” ที่แตกไลน์สินค้าเกษตรของกงสี  สู่ถุงหิ้ว ถุงร้อน ตรา “หมากรุก” 

“อภิรัตน์ ธีระรุจินนท์” หรือ “สอง” รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) หรือ TPLAS  ผู้สืบทอดตำแหน่งซีอีโอคนต่อไป

สำหรับ “สอง” นับว่าเป็นรุ่นที่สาม โดยปัจจุบัน คุณพ่อ “ธีระชัย ธีระรุจินนท์” นั่งตำแหน่ง ซีอีโอ ต่อจากอากง (คุณปู่)

“สอง” หนุ่มวัย 28 ปี เป็นลูกคนที่ 2 มีพี่สาวและน้องชาย ถูกตั้งชื่อโดยอากง (คุณปู่) โดยเป็นการตั้งชื่อตามเซียนหุ้นคนหนึ่งในสมัยก่อน ที่อากงชื่นชอบ “สอง”  เรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก และเข้าเรียนเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์

“สอง” มีแนวคิดต้องการช่วยงานที่บ้านมาตลอด  มีความคิดที่จะแบ่งเบาภาระของพ่อตั้งแต่เรียนอยู่ ม.5 ก่อนที่จะมาช่วยงานจริงจัง ช่วงเรียนปี 4 ซึ่งเรียนจบมาก็มาเริ่มงานที่บริษัท TPLAS ของพ่อเลย

เป้าหมายแรกของการทำงานครั้งนี้คือ “ทำยังไงก็ได้ ให้พ่อได้พักผ่อนบ้าง” แต่พอแต่งงาน เริ่มเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ โดยตั้งเป้าที่จะหาเงินเพื่อเลี้ยงครอบครัว และอยากเป็นคนสุดท้าย ที่จะหยุดปัญหาทุกคน หรือ คนอื่นสามารถทำพลาดได้ แต่ “สอง” ต้องเป็นคนเบรกคนสุดท้ายจะพลาดไม่ได้

ปัจจุบัน “สอง” ดูแลงานขาย และฝั่งโรงงาน หรือ เรียกง่าย ๆ ว่า งานหน้าบ้าน โดยฝั่งการขายก็คอยหาหนทางที่จะเติบโตในหลาย ๆ ตลาด หาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ วิเคราะห์ตลาดต่าง ๆ ก่อนจะไปดูฝั่งโรงงาน ว่า เครื่องจัตรสามารถผลิตสินค้าได้ตามที่ตลาดต้องการไหม หรือจะปรับปรุงอย่างไร ส่วนคุณพ่อยังเป็นผู้คอยกำหนดทิศทางของบริษัทอยู่ แต่ให้อิสระในการบริหารกับ “สอง”

แนวคิดในการทำงานของ “สอง” เป็นคนที่ระมัดระวังการลงทุนมาก การกู้ยืมต่าง ๆ ควรมีเงินสำรองไว้อย่างน้อย 80% ของจำนวนเงินที่ยืม รวมทั้งดูแลสวัสดิการพนักงาน ให้ดี ให้ใจพนักงานกับทุกคน โดยคิดว่าตัวเราเองก็คือพนักงานคนหนึ่งที่ทำงานแทนผู้ถือหุ้น ให้ผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์อย่างสูงที่สุด

ด้านโควิด-19 มีผลต่อ TPLAS บ้าง ในเชิงการของปิดโรงงาน ปิดตลาด ขาดแคลนแรงงานบางส่วน ก็มีผลนิดหน่อย แต่ถามว่า ยังขายได้ไหม ยังมียอดขายอยู่ต่อเนื่อง โดยได้พยายามหาทางแก้ทุกปัญหา ทำทุกอย่างให้เหมือนกับก่อนเกิดโควิด-19

“สอง ” มีแนวคิดสำหรับการดำเนินธุรกิจ 1.ทำธุรกิจอะไรก็ได้ ขอให้ไม่เจ๊ง 2.ต้องมีการเติบโตตลอด อย่างปัจจุบันลูกค้าของ TPLAS ส่วนใหญ่ เป็นตลาดสด ซึ่งมียอดขายจากภาคใต้เป็นส่วนใหญ่  สินค้าค่อนข้างตอบโจทย์กับวิถีเกษตกรของภาคใต้ ซึ่งเป็นสินค้าคุณภาพดี ไม่ใส่แคลเซียม เหมาะกับการนำไปห่อผลไม้ หรือ ห่อกะลาที่ใช้กีดยาง

นอกจากนี้ “สอง” ยังได้รุกผลิตภัณฑ์ใหม่  ถ้วย ชาม กล่องข้าวกระดาษ โดยนำเยื่อไผ่มาเป็นส่วนสำคัญในการผลิต  ติดตั้งเครื่องจักร ครบ 10 เครื่องเรียบร้อยแล้ว กำลังการผลิตสามารถผลิตได้ 31 ล้านใบต่อปี  มีเป้าหมาย  5 ปีข้างหน้า (2569) สัดส่วนรายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 30-50% ของรายได้รวม จากปัจจุบันอยู่ที่ 2-3%

ส่วนแนวคิดสุดท้าย แนวคิดที่ 3 คือการทำธุรกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือ การเปลี่ยนธุรกิจให้เข้าเทรนของโลก ซึ่งทุก ๆ สินค้า มีอายุของมัน มีช่วงพีค ช่วงต่ำสุด ก่อนจะหมดสิ้นไป อย่าง TPLAS ก็คงไม่ทำถุงพลาสติกไปตลอดชีวิต จึงได้เริ่มหันมาเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษมากขึ้น เป็นการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อการเติบโตยั่งยืนของบริษัทและต่อผู้ถือหุ้นในที่สุด