“บิ๊กตู่”กดปุ่มสร้างโมโนเรล 2 เส้นทางแรกของไทย

พล.อ.ประยุทธ์ กดปุ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สายสีเหลือง คาดได้ใช้ในปี 2565 กลุ่มบีทีเอสรับสัมปทานเดินรถ 30 ปี หุ้น BTS เพิ่มขึ้น 1.64% ส่วนต่อขยายสีชมพูเข้าเมืองทองธานี รอบอร์ดรฟม.อนุมัติ 31 ส.ค.นี้

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 27 ส.ค. ที่บริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหมวดทางหลวงศรีนครินทร์ ถนนศรีนครินทร์ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้าง และทำพิธีกดปุ่มเทคอนกรีตลงสู่ฐากราก โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศไทย คือโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง พร้อม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะผู้ถือหุ้น บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)ร่วมงานด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดงานว่า วันนี้ถือว่าพวกเราได้มาร่วมกันสร้างบริบทให้กับประเทศ ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศ และถือเป็นหนึ่งในการผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชนของประเทศ ทั้งหมดได้กำหนดไว้ในแผนแม่บทและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งการลงทุนทั้งหมดต้องถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยระเบียบวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกต้อง สุจริต

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีระยะทาง 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีระยะทาง 30.4 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี ทั้งสองโครงการจะเปิดให้บริการปลายปี 2565 โดยมีกลุ่ม BSR ประกอบด้วยบริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ (BTS), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เป็นผู้ที่ได้รับสัมปทาน เดินรถ 30 ปี งานก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน ทั้งนี้ราคาหุ้น BTS ซื้อขายที่ 9.30 บาท บวก 0.15 บาทหรือ 1.64% ณ เวลาประมาณ 15.50 น.

ส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จากสถานีศรีรัชเข้าเมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. นั้น นายภคพงศ์ กล่าวว่า จะนำเสนอให้คณะกรรมการ รฟม.พิจารณาและอนุมัติโครงการก่อสร้างในวันที่ 31 ส.ค.นี้ หลังจากที่ก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ต่อขยายเส้นทางไปตามถนนรัชดาภิเษกสิ้นสุดบริเวณแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม.ได้รับอนุมัติไปครั้งที่แล้ว ทั้งหมดจะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)เพื่อบรรจุในแผนแม่บทการจราจร หลังจากนำเสนอเข้ากระทรวงคมนาคม เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพราะจะมีการเวนคืนที่ดิน ภาครัฐจะเป็นผู้ดำเนินการ และเอกชนจะจ่ายชดเชย

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างในส่วนต่อขยายอาจจะใช้เวลามากกว่าเส้นทางหลัก เพราะติดขั้นตอน EIA และการเวนคืนที่ดิน แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อเส้นทางหลักที่ รฟม.กำหนด

นอกจากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการ รฟม.ในวันที่ 31 ส.ค.จะพิจารณาอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในรูปแบบลักษณะให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) แบบ Net Cost ให้ผู้ประกอบการรับความเสี่ยงไป โดยจะเป็นงานเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งเส้นทาง ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ระยะทางรวม 39.6 กม. และงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายส้มด้านตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม (ฝั่งตะวันตก) รวมมูลค่า 1.3-1.4 แสนล้านบาท หลังจากจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เพื่อกลั่นกรองก่อนเสนอให้ ครม.ให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ รฟม.จะออก TOR ทันในปีนี้

ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวย้ำว่า การเดินรถไม่ว่าจะเป็นบริษัทใด จะมีกรอบราคาค่าโดยสาร 14-42 บาท โดยจะมีค่าแรกเข้า 14 บาท แม้จะมีระยะทางเพิ่มขึ้นแต่จะไม่เพิ่มค่าโดยสาร

นายภคพงศ์ กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (ม่วงใต้) อยู่ระหว่างการเวนคืนที่ดิน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของทางราชการ และรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ตามแนวถนนสามเสน ถนนเทเวศร์ หากเป็นพื้นที่ราชการก็ต้องทำหนังสือขอใช้พื้นที่ แต่ถ้าเป็นของรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ต้องชำระเงินเป็นสิ่งตอบแทน หากแก้ปัญหาจุดนี้ได้จะออก TOR ได้ แต่คาดว่าจะไม่ทันในปี 2561