“BGC” จ่อเข้าเทรดไตรมาส 4 ปีนี้

“BGC” หุ้นน้องใหม่ “กลุ่มบุญรอด” จ่อเทรดไตรมาส 4 เดินหน้าขายไอพีไอ 194.44 ล้านหุ้น ระดมเงินสร้างเตาหลอมขวดแก้วเตาที่ 11 เพิ่มกำลังผลิตรวมเป็น 3,495 ตันต่อวัน “ที่ปรึกษาการเงิน” ย้ำหุ้นแกร่ง-มีกำไรสม่ำเสมอ

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่งการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ BGC โดย BGC จะเสนอขาย IPO จำนวนไม่เกิน 194.444 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 28% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้ว ราคาพาร์หุ้นละ 5 บาท

สำหรับการขายหุ้น IPO ของ BGC ทั้ง 194.444 ล้านหุ้น แบ่งเป็นการเสนอขายหุ้นให้นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย 175 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25.2% และเป็นการเสนอขายหุ้นให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน 19.444 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 2.8% ซึ่งทั้งสองกลุ่มจะได้หุ้น IPO ในราคาเท่ากัน ขณะที่ BGC มีแผนให้ข้อมูลธุรกิจและข้อมูลแก่นักลงทุน (โรดโชว์) เฉพาะนักลงทุนในประเทศ และเฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น โดยคาดว่า BGC จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

นายพงศ์ศักดิ์ ระบุ เงินที่ได้จากการระดมทุน BGC จะใช้เป็นแหล่งทุนในการสร้างโรงงานและเตาหลอมเตาที่ 11 ตั้งอยู่ที่ จ.ราชบุรี วงเงินลงทุน 2,500 ล้านบาท กำลังการผลิต 400 ตันต่อวัน โดยเตาหลอมแห่งนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง และจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปีนี้ ซึ่งทำให้กำลังการผลิตขวดแก้วของ BGC เพิ่มเป็น 3,495 ตันต่อวัน อีกทั้งจะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ระดับ 2 เท่า ซึ่งระดับเดียวกับอุตสาหกรรมนี้ จากปัจจุบันที่หนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 3.3 เท่า ส่วนเงินที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน

นายพงศ์ศักดิ์ กล่าวว่า BGC เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขวดแก้วรายใหญ่ที่สุดของประเทศและอาเซียน มีกำลังการผลิต 3,095 ตันต่อวัน โดย BGC ถือเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ หรือ Defensive stock ซึ่ง EBITDA แต่ละปีจะอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีแผนรุกตลาดในกลุ่ม CLMV และอาเซียน เพื่อเพิ่มสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศเป็น 20% ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันที่บริษัทมียอดขายในต่างประเทศ 6-7% หรือประมาณ 600-700 ล้านบาท จากยอดขายปี 2560 ที่อยู่ที่ 11,221 ล้านบาท

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ BGC กล่าวว่า BGC เป็นผู้ผลิตขวดแก้วรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีส่วนแบ่งตลาด 39% โดยมีลูกค้ารายใหญ่ที่สุด คือ กลุ่มสิงห์ คอร์ปอเรชั่น ในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ คิดเป็น 57.9% ของยอดขายรวม ขณะที่กลุ่มสิงห์ฯ และตระกูลภิรมย์ภักดีถือหุ้น BGC คิดเป็นสัดส่วน 60-70% ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ขวดแก้วยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามทิศทางแพ็กเก็จจิ้งที่จะเติบโตเฉลี่ย 4.2% ต่อปีในช่วงปี 2560-2565 และการบริโภคเครื่องดื่มที่เติบโตเฉลี่ย 6.7% ต่อปี ในช่วงในช่วงปี 2560-2565

ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร

ทั้งนี้ BGC มีแผนขายตลาดไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในเวียดนาม พม่า กัมพูชา ลาว และมาเลเซีย โดยตั้งเป้าเพิ่มยอดขายในต่างประเทศเป็นสัดส่วน 20% ของยอดขายรวมภายใน 5 ปีจากนี้ จากปัจจุบันที่บริษัทมียอดขายต่างประเทศเพียง 6-7% เท่านั้น

“เราเป็นผู้นำในการผลิตขวดแก้ว และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในตลาดที่มีผู้เล่นน้อยราย การเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ทำได้ยาก และต้องใช้เงินลงทุนหลักหลายพันล้านบาท ในขณะที่ความต้องการผลิตภัณฑ์ขวดแก้วมีแนวโน้มเติบโตทุกปีตามทิศทางตลาดเครื่องดื่ม อีกทั้งขวดแก้วมีความเป็นพรีเมี่ยมและมีคุณสมบัติในการเก็บรักษาเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ในการปรุงอาหาร เช่น เบียร์ สุรา โซดา และซอสปรุงรส ซึ่งขวดพลาสติกไม่สามารถทดแทนได้ รวมทั้งรีไซเคิลได้ 100%”นายศิลปรัตน์กล่าว

นายศิลปรัตน์ กล่าวว่า ปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจนี้ ได้แก่ ต้นทุนราคาก๊าซ และราคาเศษแก้วที่นำมาหลอมเป็นขวดแก้ว