SCC กำไร 6,817 ล้านบ. Q3/64 ปีหน้าตั้งงบลงทุน 4 หมื่นล.

HoonSmart.com>>”ปูนซิเมนต์ไทย” เปิดผลงานไตรมาส 3/64 มีกำไรสุทธิ 6,817 ล้านบาท ลดลง 30% จากปีก่อน เทียบไตรมาส 2 ลดลง 60% เจอล็อกดาวน์ ความต้องการสินค้าลดลง แถมมีการขาดทุนด้อยค่า ส่วนรายได้จากการขาย 1.31 แสนล้านบาท โต 31% จากราคาเคมีภัณฑ์เพิ่ม  รวม 9 เดือน กำไร 38,867 ล้านบาท โต 49% คาดปี 65 รายจ่ายลงทุน-เงินลงทุน 4 หมื่นล้านบาท จากปีนี้คาดใช้ไป 8-9 หมื่นล้านบาท 

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยผลประกอบการงวดไตรมาสที่ 3/2564 มีกำไรสุทธิ 6,817 ล้านบาท ลดลงจำนวน 2,924 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 30% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 9,741 ล้านบาท และลดลง 10319 ล้านบาท คิดเป็น 60.22% เทียบกับไตรมาสที่ 2/2564 ที่มีกำไรสุทธิ 17,136 ล้านบาท รวม 9 เดือนปีนี้ กำไรทั้งสิ้น 38,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12771 ล้านบาท คิดเป็น 48.94% จากที่มีกำไรสุทธิ 26,096 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน

นาย รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย เปิดเผยว่า ไตรมาสที่ 3/2564 บริษัทมีรายได้จากการขาย 131,825 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31%จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้น ขณะที่มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 9,066 ล้านบาท ลดลง 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการที่ลดลงจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และมาตรการการล็อกดาวน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อรวมขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์และกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุน ทำให้กำไรสุทธิลดลง 30%

ทั้งนี้ EBITDA ลดลง 54% จากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 14,741 ล้านบาท และกำไรสุทธิลดลง 60% มีรายการสำคัญโดยรวมขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในประเทศเมียนมา และกำไรจากการปรับมูลค่าเงินลงทุนเป็นมูลค่ายุติธรรม อย่างไรก็ตาม EBITDA จากการดำเนินงานปกติที่ไม่รวมรายการสำคัญดังกล่าว  อยู่ที่ 16,806 ล้านบาท ลดลง 48% จากไตรมาสก่อน จากเงินปันผลรับที่ลดลง และกำไรจากการดำเนินงานปกติ  9,066 ล้านบาท หรือลดลง 47%จากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการครั้งนี้สะท้อนความสามารถของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างในการขาย ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศมาตรการปิดไซต์งานก่อสร้างตลอดเดือนก.ค. – ส.ค. 2564 รวมถึงธุรกิจเคมิคอลส์ที่สามารถบริหารจัดการช่องทางการขาย ทำให้ปริมาณการขาย Polyolefin ในไตรมาสที่ 3/2564 สูงที่สุด ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิดและสภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์

ส่วน 9 เดือนปีนี้ บริษัทฯมีรายได้จากการขาย 387,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28 % และมีกำไรสุทธิเติบโต 49% เนื่องจากส่วนต่างราคาของสินค้าเคมีภัณฑ์และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น บริษัทมี EBITDA เท่ากับ 70,457 ล้านบาท บริษัทฯมีกระแสเงินสดจ่ายทั้งสิ้น 110,948 ล้านบาท  ประกอบด้วยรายจ่ายลงทุนและเงินลงทุน 72,296 ล้านบาท จ่ายเงินปันผล 23,833 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ย 5,897 ล้านบาท และจ่ายภาษีเงินได้ 8,922 ล้านบาท ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564  มีสินทรัพย์รวม เท่ากับ 850,339 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 จำนวน 100,958 ล้านบาท

นาย รุ่งโรจน์ กล่าวว่า บริษัทคาดการณ์รายจ่ายลงทุนและเงินลงทุนในปี 2565 ประมาณ 40,000 ล้านบาท ลดลงจากที่เกิดขึ้นในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาท โดยจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งมาจากการลงทุนเข้าซื้อหุ้นโครงการต่างๆ และการก่อสร้างโครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) ในประเทศเวียดนาม

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีรายจ่ายลงทุนและเงินลงทุน 72,296 ล้านบาท โดยสัดส่วนการลงทุนเป็นของธุรกิจเคมิคอลส์ 66% ธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง 23% ธุรกิจซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 8% และส่วนงานอื่น 3% ทั้งนี้ รายจ่ายลงทุนและเงินลงทุนส่วนใหญ่ใช้สำหรับโครงการปิโตรเคมีครบวงจรของ LSP แผนการลงทุนในโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งที่ 2 ในประเทศอินโดนีเซียของบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) และการเข้าควบรวมกิจการของธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง

สำหรับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน บริษัทมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมายของการเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 93 และได้กำหนดเป้าหมายระยะกลางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างน้อย 20% ภายในปี 73 เมื่อเทียบกับปีฐาน 63 ผ่านการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตโดยตรง (Scope 1) และที่เกิดขึ้นโดยอ้อม (scope 2) และการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้สอดคล้องกับการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ด้านบริษัท เอสซีจิ โลจิสติกส์ แมเนจม้นท์   (SCGL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SCC ได้ลงทุนจัดตั้งบริษัทในประเทศฟิลิปปินส์ ใช้งบลงทุนรวม ประมาณ 7.8 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ การบริหารรถขนส่งสินค้า และระบบสำหรับการจัดการคลังสินค้า ซึ่งสอดคล้องตามแผนกลยุทธ์การขยายตลาดธุรกิจโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเชียนของ SCC

ปัจจุบัน SCGL ให้บริการต้านโลจิสติกส์ครอบคลุมประเทศต่างในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา รวมทั้งในตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เชื่อมโยงไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ ดังนั้นการขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศฟิลิปปินส์ จะช่วยให้ SCGL มีเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น