รับมือ! บจ.กำไรวูบ Q3/Q2 DELTA เหลือแค่ 1,191 ล้านบ.

HoonSmart.com>> บจ.ที่ไม่ใช่แบงก์ ผลงานไตรมาส 3/64  ถลาลงตามคาด เจอห่วงโซ่อุปทานชะงัก น้ำมันแพง ทำต้นทุนเพิ่ม มาร์จิ้นหด “เดลต้า อีเลคโทรนิคส์” กำไรสุทธิ 1,191 ล้านบาท หดตัว 54% จากงวดปีก่อน ตั้งสำรองเผื่อผลขาดทุนจากน้ำท่วมโรงงานบางปู  393 ล้านบาท SCGP กำไรสุทธิ 1,780 ล้านบาท ติดลบ 21% จากไตรมาส  2  มั่นใจปีนี้รายได้เกิน 1 แสนล้านบาท ลงทุนเกิน 2 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 4 ทุ่มกว่า 3 พันล้านบาท ปิดดีล Deltalab  ขยายกำลังการผลิต แย้มปี 65 โตเด่น รับรู้ควบรวมเต็มปี 1.8 หมื่นล้านบาท  HMPRO กำไรแค่ 870 ล้านบาท ลดลงเกือบ 38%

 

บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2564  กำไรสุทธิ 1,191.26 ล้านบาท ลดลง 54.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 2,642.09 ล้านบาท และลดลง 28.04% เทียบกับไตรมาสที่ 2/2564

ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2564 กำไรสุทธิ 4,603.42 ล้านบาท ลดลง 16.61% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 5,520.09 ล้านบาท

บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงาน 1,134 ล้านบาท  อัตรากำไรลดลงจาก 15.1% ของงวดเดียวกันของปีก่อนเป็น 5.3%  เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งเพิ่มขึ้น รวมทั้งการตั้งสำรองเผื่อผลขาดทุนจากอุทกภัยจำนวน 393 ล้านบาท บริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย ส่วนอัตรากำไรสุทธิลดลงจาก 14.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเป็น 5.6% โดยมียอดขายสินค้าและบริการ 21,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.0%  อย่างไรก็ตามกำไรขั้นต้นลดลง 10.4% เหลือจำนวน 4,103 ล้านบาท เนื่องจากการขึ้นราคาของวัตถุดิบหลักโดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ชิปเซ็ท จากกำลังการผลิตที่จำกัดของการผลิตแผงวงจรบนแผ่นเวเฟอร์ต้นน้ำ และการหยุดชะงักของการประกอบชิปเซ็ทปลายน้ำ เนื่องจากการระบาดของโควิด19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน)เซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก

วิชาญ จิตร์ภักดี

ด้านบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เปิดเผยว่า มีกำไรสุทธิ 1,780.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 445.73 ล้านบาท คิดเป็น 33.38% เทียบกับไตรมาสที่ 3 ปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ  1,335.14 ล้านบาท แต่หดตัวมากถึง 482.39 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 21.31% เทียบกับไตรมาสที่ 2/2564 ที่มีกำไรสุทธิ 2,263.26 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการในการควบคุมโรดระบาดอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดภาวะชะงักงัน ขณะที่ตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มขาดแคลน ทำให้อัตราค่าระวางเรืออยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบรวมถึงต้นทุนพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลงานโดยรวม 9 เดือนปีนี้ กำไรทั้งสิ้น 6,178.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,207.38 ล้านบาท คิดเป็น 24.29% จากกำไรสุทธิ 4,971.48 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีรายได้จากการขาย 89,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29%

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง  เปิดเผยว่า ในปี 2564 คาดว่ามีรายได้จากการขายมากกว่า 100,000 ล้านบาท โดย  9 เดือนที่ผ่านมา ทำได้แล้ว  89,078 ล้านบาท ซึ่งจะเติบโตขึ้นตัวเลขสองหลัก จากปีก่อนที่มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 92,789 ล้านบาท  แนวโน้มตลาดบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนช่วงไตรมาส 4 ปรับตัวดีขึ้นตามกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประกอบกับประสิทธิภาพในการผลิตสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ดีขึ้นตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนของบริษัท อีกทั้งยังมีต้นทุนวัตถุดิบกระดาษ และค่าขนส่งที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่บริษัทได้พยายามควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้กระบวนการผลิตสะดุด รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็น ซึ่งตั้งเป้าจะรักษาอัตรา EBITDA Margin ให้อยู่ในระดับ 15-20% จากช่วง 9 เดือนอยู่ที่ระดับ 18%

ขณะเดียวกันบริษัทยังคงแผนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน รวมถึงยังคงให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต เพื่อให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจไปอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)

สำหรับเงินลงทุนในปี 2564 ตั้งไว้มากกว่า 20,000 ล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนแรกใช้ไปแล้วประมาณ 17,000 ล้านบาท และในไตรมาส 4 นี้ คาดว่าจะใช้อีกมากกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในบริษัท Deltalab ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูง ในประเทศสเปน ซึ่งคาดว่าจะปิดได้สำเร็จ และใช้ลงทุนสร้างการเติบโตอื่นๆตามแผน

ปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิต ได้แก่ โครงการลงทุนสายการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร ประเทศไทยและเวียดนาม มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,838 ล้านชิ้นต่อปี (ส่วนแรกจะเริ่มผลิตในไตรมาส 1  กำลังการผลิต 1,615 ล้านชิ้นต่อปี และส่วนที่สองเริ่มผลิตไตรมาส 2 กำลังการผลิต 223 ล้านชิ้นต่อปี) และโครงการขยายการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ กำลังการผลิต 220,000 ตันต่อปี เริ่มดำเนินการผลิตช่วงต้นปี 2565

อีกทั้งยังมีแผนการสร้างฐานการผลิตใหม่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 370,000 ต้นต่อปี คาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567 และศึกษาขยายตลาดไปตอนใต้ของประเทศจีน เนื่องจากอยู่บริเวณใกล้กัน รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาขยายไปยังตลาดอินเดียเพิ่มเติมด้วย

แนวโน้มในปี 2565 บริษัทคาดว่าผลประกอบการจะเติบโตดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีนี้ เนื่องจากมีโครงการที่อยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตจะแล้วเสร็จ และยังรับรู้ผลประกอบการจากโครงการที่เข้าควบรวมแล้วเสร็จ  สำหรับการควบรวม จะรับรู้รายได้เต็มปีรวมแล้วประมาณ 18,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ก็มีแผนจะขยายกำลังการผลิต (Organic growth) และการเร่งขยายธุรกิจจากการควบรวมกิจการ (M&P)

“เราคาดว่าตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/2564 จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ตามกำลังซื้อที่เริ่มกลับมา เรายังคงมุ่งเน้นขยายตลาดใหม่ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์อย่างต่อเนื่องๆ จากปัจจุบันที่เรามีสัดส่วนจากต่างประเทศประมาณ 55% ของรายได้จากการขาย ด้านกระแสเงินสดยังแข็งแกร่ง สิ้นไตรมาส 3  มีเงินสดอยู่ที่ 19,330 ล้านบาท มีอัตราหนี้สินต่อทุนที่ 0.7 เท่า และยังมีวงเงินสินเชื่อจากการดำเนินงานด้านความยั่งยืนจากสถาบันการเงินอีก” นายวิชาญ กล่าว

บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) เปิดเผยผลงานไตรมาส 3/2564 กำไรสุทธิ 870.41 ล้านบาท ลดลง 37.85% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 1,400.52 ล้านบาท รวม 9 เดือน ปี 2564 กำไรสุทธิ 3,665.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 3,609.72 ล้านบาท

บริษัทฯ มีรายได้รวม  13,776.84 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3  ลดลง 2,240.83 ล้านบาท หรือ 13.99% จากงวดปีก่อน ได้รับผลกระทบจากทั้งการปิดสาขาชั่วคราวตามคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)และจากกำลังซื้อในประเทศที่ลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจ แม้ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลจะมีการผ่อนคลายกฎระเบียบ กำลังซื้อก็ยังไม่กลับมาเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า

ส่วนยอดขายของสาขาในต่างประเทศได้รับผลกระทบจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดเช่นเดียวกัน โดยมีรายได้ค่าเช่า 217.05 ล้านบาท ลดลง 270.16 ล้านบาท หรือ 55.45% เป็นผลจากการที่บริษัทฯ ยังคงมีการปรับลดหรือยกเว้นค่าเช่าให้แก่ผู้เช่า ซึ่งยังได้รับผลกระทบจากระบาดของโควิด-19

ด้านบล.กรุงศรี มองผลประกอบการไตรมาส 3 ออกมาตามคาด แต่ต่ำกว่าตลาดคาด 14% ผลกระทบจากล็อกดาวน์ส่งผลให้ยอดขายสาขาเดิมติดลบ 13-14% ยังคงแนะนำ “ซื้อ” HMPRO ราคาเป้าหมาย 16.50 บาท