บจ.คว้าคะแนน CGR เฉลี่ยสูงสุดถึง 84%บริษัท 268 แห่งคว้า 5 ดาว

HoonSmart.com>> เปิดผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทย (CGR)  ประจำปี 64 มีบจ.เข้าร่วมกว่า 716 บริษัท ผลคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุดตั้งแต่สำรวจมาอยู่ที่ 84% โดยมีคะแนนสูงสุด 98 คะแนน ต่ำสุด 47 คะแนน มีบริษัทได้ 4 ดาวขึ้นไปถึง 74% แบ่งตามมาร์เก็ตแคป  1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป มีบริษัทได้ 5 ดาว อยู่ 37 บริษัท เตรียมเพิ่มมาตรการฐานการรายงานข้อมูล ESG ปี 66

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท. , สำนักงาน ก.ล.ต. และสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) รวมถึงหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันพัฒนา และยกระดับการประเมินผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทย (CGR) ไปสู่ก้าวใหม่ ให้มีความสอดคล้องกับแบบ 56-1 One Report เพิ่มมาตรการฐานการรายงานข้อมูล ESG เพื่อยกระดับคุณภาพการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนไทย ในปี 2566

ในปัจจุบันผู้ลงทุนมีความต้องการข้อมูลด้าน ESG มากขึ้น ใช้เป็นหนึ่งในการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนการลงทุน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องในอนาคต

ปัจจุบันประเทศไทยมีกองทุน ESG รวม 58 กองทุน มีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารรวมกว่า 57,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96% จากต้นปีที่ผ่านมา มีทิศทางพัฒนาการที่ก้าวกระโดด เป็นไปในทางเดียวกันกับต่างประเทศ

บริษัทจดทะเบียนไทยได้ตระหนักถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน และมีการพัฒนาการในด้าน ESG อย่างต่อเนื่อง ทำให้การประเมิน CGR อยู่ในระดับ 4 ดาวขึ้นไป มีจำนวนกว่า 74% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด และเป็นผู้นำในตลาดอาเซียนมาโดยตลอด และถูกประเมินเข้าดัชนีหุ้นยั่งยืนมากขึ้นถึง 146 บริษัท และดัชนีความยั่งยืนระดับสากล ก็เพิ่มเข้ามาอยู่ในรายชื่อของดัชนีความยั่งยืนต่างๆอย่างต่อเนื่อง

ด้านนายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) , ประธานกรรมการ CGR Steering Committee ประจำปี 2564 และประธานคณะกรรมการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย เปิดเผยว่า โครงการ CGR มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและยกระดับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทย เพื่อเทียบเท่ากับมาตรฐานสากล โดยได้นำการประเมิน CGR ใช้ในการพัฒนาด้านธรรมาภิบาล (CG) อาทิ 1.หน่วยงานที่เป็นผู้กำกับดูแล จะใช้ผลการประเมินในส่วนที่ควรปรับปรุงไปใช้ในการกำหนกเกณฑ์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนา CG ระดับประเทศให้ดียิ่งขึ้น 2.นักลงทุน ก็สามารถนำคะแนน CGR ไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน 3.กลุ่มบริษัทจดทะเบียน ก็นำคะแนน CGR มากำหนดแนวทางปฏิบัติในองค์กร

“การพัฒนาด้าน CG มีทิศทางที่พัฒนาขึ้นมาโดยตลอด การที่บริษัทจดทะเทียนให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียมากขึ้น ก็เป็นทิศทางการพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนที่ดีขึ้น ปีนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 21 ของโครงการ CGR ผลคะแนนของบริษัทส่วนใหญ่ได้ก้าวสู่ CGR ที่เป็นมาตรฐานระดับ 3-5 ดาว มากขึ้น และกระแส ESG ทำให้นักลงทุนใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น เราจึงพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์นี้ให้ใช้จริงในปี 2566 และจะยกระดับการพัฒนาด้าน ESG เพื่อสะท้อนความคาดหวังการกำกับดูแลในมิติต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสังคม” นายชัยวัฒน์ กล่าว

ด้านนางศิรินันท์ กิตติเวทางค์ รองกรรมการผู้อำนวยการ IOD และเลขานุการ CGR Steering Committee ประจำปี 2564 เปิดเผยว่า จากผลสำรวจ CGR ประจำปี 2564 มีบริษัทจดทะเบียนเข้าประเมินจำนวน 716 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 544 บริษัท และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 172 บริษัท โดยใช้เกณฑ์การประเมินทั้งหมด 5 หมวด รวม 241 ข้อ  ได้คะแนนเฉลี่ยสูงที่สุดตั้งแต่ดำเนินโครงการ CGR ในปี 2544 อยู่ที่ 84% จากก่อนอยู่ที่ 83% (692 บริษัท)โดยคะแนนสูงสุดอยู่ที่ 98 คะแนน และต่ำสุดอยู่ที่ 47 คะแนน

บริษัทที่ได้ 5 ดาว หรือมีคะแนนตั้งแต่ 90 ขึ้นไป มีจำนวน 268 บริษัท ,บริษัทที่ได้ 4 ดาว หรือได้คะแนน 80-89 อยู่ที่ 260 บริษัท ,บริษัทที่ได้ 3 ดาว หรือได้คะแนน 70-79 อยู่ที่ 133 บริษัท และบริษัทที่ได้ 2 ดาวหรือต่ำกว่า รวมถึงบริษัทที่เข้าเหตุแห่งการไม่ประกาศผล อยู่ที่ 55 บริษัท รวมทั้งหมด 716 บริษัท ซึ่งยังสามารถแบ่งออกตามมาร์เก็ตแคปตั้งแต่ 10,000 ล้านบาทขึ้นไปบริษัทที่ได้ 5 ดาว มีจำนวน 37 บริษัท และมีมาร์เก็ตแคปตั้งแต่ 3,000-9,999 ล้านบาท มี 39 บริษัท

ขณะที่หลักเกณฑ์ใหม่การประเมิน CGR  ในปี 2566  1.มีการนำการแบ่งหมวดหมู่จะรวมสิทธิของผู้ถือหุ้น และหมวดการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน เป็นหมวดเดียวกัน จึงลดจากเดิมมี 5 หมวด เหลืออยู่ 4 หมวด และปรับหลักเกณฑ์การประเมินลดลงเหลือ 172 ข้อ จากเดิม 241 ข้อ 2.ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG โดยการปรับชื่อหมวด “การคำนึงถึงบทบาทผู้มีส่วนได้เสีย” เป็น “การคำนึงถึงบทบาทผู้มีส่วนได้เสียและการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งได้เพิ่มหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการด้านความยั่งยืนขององค์กร