IMF ลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 64 เหลือโต 1%

HoonSmart.com>>IMF ลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือโต 1% จากเดิมคาด 2.1% จากการระบาดของไวรัสเดลต้าและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต่ำ แม้รัฐบาลเปิดประเทศ 1 พ.ย. นี้ หนุนรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นความเชื่อมั่น

Krungthai COMPASS ระบุว่า IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 25664 เหลือโต 1% ต่ำกว่าประมาณการเดิมเมื่อเดือน ก.ค.ที่คาดโต 2.1% และคาดว่าจะขยายตัว 4.5% ในปี 2565 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยระหว่างปี 2566-2569 ที่ 3.5-4.0% ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ที่คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ 0.5% และ 3.9% ในปี 2564 – 2565 เศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า จำนวนนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าไทยจะมีแผนการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2021 แต่จำนวนนักท่องเที่ยวไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากอัตราการติดเชื้อโควิด-19 รายวันของประเทศไทยยังอยู่ในระดับสูง ส่วนภาคส่งออก แม้จะฟื้นตัวได้แต่ยังมีปัจจัยลบที่เข้ามาชะลอการฟื้นตัว ทั้งต้นทุนวัตถุดิบสำหรับภาคการผลิตและการขนส่งทางเรือที่สูงขึ้น รวมถึงเงินบาทที่มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

IMF คาดการณ์ว่าในระยะกลางปี 2566-2569 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.5-4.0% แต่หากคำนึงถึงการอยู่ร่วมกับโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงไปประมาณ 0.4 – 1% (เทียบจากตัวเลขประเมินของกลุ่มเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา) จากการที่ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ การว่างงานที่เพิ่มขึ้นชั่วคราว และการจำกัดการเดินทาง และทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิดได้ช้าลงกว่าที่คาด

ด้านอัตราเงินเฟ้อ Krungthai COMPASS มองว่าเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเพียงระยะสั้น เนื่องจากองค์ประกอบของตะกร้าเงินเฟ้อของไทยที่อิงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีกลไกในการควบคุมเสถียรภาพด้านราคาพลังงานไม่ให้ผันผวนตามทิศทางตลาดโลกตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ประกอบกับสัดส่วนสินค้านำเข้า ที่อยู่ในระดับไม่สูงเมื่อเทียบกับสัดส่วนสินค้าส่งออก ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ส่งผ่านมายังอัตราเงินเฟ้อของไทยค่อนข้างจำกัด

ทั้งนี้มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างแรงส่งทางเศรษฐกิจของไทย สะท้อนจากที่ IMF ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัวต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนหน้าค่อนข้างมากที่ระดับ 4.5% สอดคล้องกับ Krungthai COMPASS ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัวได้เพียง 3.9% หมายความว่า รอยต่อของวัฏจักรเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนผ่านจากภาวะซบเซา (Stagnation) ไปสู่ระยะของฟื้นตัว (Recovery) ได้ล่าช้ากว่าเดิม ดังนั้นการเร่งอัดฉีดมาตรการทางการคลัง นอกจากจะช่วยพยุงการบริโภคในประเทศแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคการลงทุน หนุนภาพเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ควรจะต้องมีมาตรการที่จะช่วยเร่งการปรับโครงสร้างของภาคธุรกิจ

IMF ยังปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัวที่ 5.9% ต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนเล็กน้อยที่ 6% เนื่องจากการชะลอลงของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่ได้รับผลกระทบจาก Supply disruption และสถานการณ์แพร่ระบาดที่เลวร้ายลงในกลุ่มประเทศรายได้น้อย ขณะที่ระดับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มประเทศตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่วนปี 2565 ยังคงประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ 4.9%