HoonSmart.com>>”ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป”ชูกำไรสุทธิ 1,560 ล้านบาทไตรมาสที่ 3/2564 ลดลงตามคาด สินเชื่อชะลอตามสถานการณ์โควิด-ล็อกดาวน์ รวม 9 เดือนกวาดกำไร 4,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.72% NPLs เพิ่มเป็น 3% ดีกว่าคาด มองแนวโน้มธุรกิจสดใสตามการเปิดเมือง ลั่นนโยบาย โตมั่นคงและยั่งยืน หนุนสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า ( EV) ขยายสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ
บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 3/2564 มีกำไรสุทธิ 1,560 ล้านบาท ลดลง 3.17% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,611.53 ล้านบาท และลดลง 6.36%จากไตรมาสที่ 2/2564 มีกำไรสุทธิ 1,666 ล้านบาท
ผลงานรวม 9 เดือนปีนี้มีกำไรสุทธิ 4,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.72% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 4,427 ล้านบาท
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า กำไรที่ลดลง 6.3% จากไตรมาสก่อน สาเหตุจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ธุรกิจชะลอตัวลง รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 1.8% ตามการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัว รายได้ค่าธรรมเนียมอ่อนตัวลง 9.9% จากธุรกิจนายหน้าประกันภัยและธุรกิจจัดการกองทุนที่อ่อนตัวลง ประกอบกับการรับรู้ผลขาดทุนบางส่วนจากมูลค่าเงินลงทุนที่ผันผวนตามสภาวะตลาดทุนทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(ECL) ลดลงมาอยู่ที่ 0.5% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เนื่องจากการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลายในช่วงท้ายของไตรมาส ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ 16.2% ระดับเงินสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) ยังคงแข็งแกร่งที่ 196.5% โดยบริษัทยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและมาตรการปิดเมืองอย่างต่อเนื่อง เกิดโครงการต่างๆ มีผู้สนใจเข้าร่วมทั้งสิ้นกว่า 3,000 ราย
สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนแรก กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 12.7% มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจตลาดทุนที่เติบโต และการรับรู้กำไรจากเงินลงทุน โดยรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 5.8% เป็นผลมาจากปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น และการออกกองทุนใหม่ที่ตอบรับความต้องการของลูกค้า อย่างไรก็ตาม ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังคงอ่อนตัว โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 10.1% จากสินเชื่อที่ชะลอตัว และรายได้ค่าธรรมเนียมที่ยังอ่อนตัวลงจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยเป็นหลัก ROE เฉลี่ย อยู่ที่ 16.9%
สำหรับเงินให้สินเชื่อรวม ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 มีจำนวน 204,408 ล้านบาท ลดลง 9.1% จากสิ้นปีก่อนหน้า โดยบริษัทยังคงดำเนินนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่ ในขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.0% ถือว่าดีกว่าความคาดหมาย และมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 24.7% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.7% และ 5.0% ตามลำดับ
“หากมองไปในระยะข้างหน้า แม้จะเห็นสัญญาณบวกของสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่เริ่มดีขึ้น และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัวในเดือนพ.ย. แต่บริษัทจะยังคงให้ความสำคัญกับนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบระมัดระวังและเน้นการเติบโตอย่าง “มั่นคงและยั่งยืน” แสวงหาโอกาสการเติบโตใหม่ในกลุ่มที่เป็น Growth Engine อาทิ การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ดี การสนับสนุนเงินให้สินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า ( EV) เพื่อตอบสนองแนวคิด Green Economy ของ ภาครัฐ การขยายการเติบโตของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถบรรทุกเพื่อเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อม และการพัฒนาธุรกิจ Freedom Platform เพื่อช่วยลูกค้ากลุ่มพนักงานรายได้ประจำในการวางแผนทางการเงินและแก้ไขหนี้ เป็นต้น ” นายศักดิ์ชัย กล่าว