Krungthai COMPASS คาด”รถไฟฟ้าสีม่วงใต้”กระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยกว่า 8 หมื่นลบ.

HoonSmart.com>>Krungthai COMPASS คาดยอดโอนบ้านจัดสรรปีนี้โต 4.8% ปี 65 โต 5.1% ประเมินการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีม่วงตอนใต้ กระตุ้นมูลค่าตลาดที่อยู่อาศัยเตาปูน-ราษฎร์บูรณะไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 ว่า ยอดโอนบ้านจัดสรรอยู่ที่ 4.8% มูลค่า 3.7 แสนล้านบาท ผลจากการทำงานที่บ้าน ทำให้คนนิยมซื้อบ้านจัดสรรมากกว่าคอนโดมิเนียม ส่วนปี 2565 เติบโตที่ 5.1% มูลค่า 3.89 แสนล้านบาท ขณะที่ยอดโอนอาคารชุดปีหน้าขยายตัว 3.5% มูลค่า 2.57 แสนล้านบาท

ส่วนการลงทุนโครงการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีม่วงตอนใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 1.1 แสนล้านบาทของภาครัฐ ส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า และยังทำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย

“ในอดีต การก่อสร้างรถไฟฟ้าในอดีตทั้งสายสีเขียวตอนเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) สายสีชมพู (มีนบุรี-แคราย) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ที่ภาครัฐใช้เม็ดเงินลงทุนเองกว่า 115,000 ล้านบาท ได้ส่งผลให้ภาคเอกชนลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยในบริเวณโดยรอบเพิ่มขึ้นไปแล้วกว่า 81,500 ล้านบาท คิดเป็น Multiplier Effects อย่างน้อย 0.7 เท่า ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงตอนใต้จะทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยมีมูลค่าการพัฒนาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท เช่นเดียวกัน”

ดร.สุปรีย์ ศรีสำราญ กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มี 3 จุดเด่นที่น่าสนใจได้แก่ 1) การมีเส้นทางที่พาดผ่านทั้งสถานที่ทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และโซนที่อยู่อาศัย ตลอดจนสามารถเชื่อมต่อไปย่านธุรกิจ และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ) การมีสถานีที่เป็นจุดตัดกับโครงข่ายรถไฟฟ้าอื่นๆ อีกหลายเส้นทาง และ 3) มีอาคารจอดแล้วจรที่รองรับรถยนต์ได้มากถึง 7,900 คัน ซึ่งมากกว่าเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นๆ

นายกณิศ อ่ำสกุล กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงตอนใต้จะเป็นปัจจัยบวกให้ยอดขายที่อยู่อาศัยในพื้นที่เตาปูน-ราษฎร์บูรณะมีแนวโน้มสูงขึ้น 25% จากปีละ 7,700 ยูนิต ในช่วงปี 2018-2020 มาอยู่ที่ 9,600 ยูนิต โดยการพัฒนาคอนโดมิเนียมในทำเลบางซื่อ และคลองสาน รวมถึงทาวน์เฮ้าส์ในทำเลประชาอุทิศ-พุทธบูชาที่ระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อยูนิต และ 3-5 ล้านบาทต่อยูนิต มีโอกาสได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะนอกจากตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่มากที่สุดแล้ว ราคาที่ดินในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการนำไปพัฒนาโครงการ โดยที่ยังรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ 30-40% ได้ตามปกติ นอกจากนี้ในอนาคตคาดว่า ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในพื้นที่มีโอกาสเพิ่มจำนวนสาขาขึ้นอีก 2-3 เท่า จากปัจจุบันที่ 4-5 สาขาต่อประชากร 10,000 คน เพื่อรองรับการอยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น