HoonSmart.com>>บริษัทซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี (SVT) “หุ้นเทคค้าปลึก” ตัวแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวังแต่อย่างใด ตลอด 4 วันที่หุ้นเข้าซื้อขาย แรงดีไม่มีตก ทั้งวอลุ่มแน่นติดท็อปทรี และราคาพุ่งแรง 165.75% ปิดที่ 6.75 บาท เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 เทียบกับขาย IPO ที่ 2.54 บาท ทุกสายตาจับจ้องว่าจะวิ่งไปได้อีกไกลแค่ไหน และเกิดคำถามว่าบริษัทมีดีอะไรถึงสามารถดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลุยได้ใจขนาดนี้ ซึ่งเชื่อว่า SVTจะช่วยสร้างสีสันและปลุกหุ้น IPO ในโค้งสุดท้ายของปี 2564 ให้คึกคักยิ่งขึ้น
“อาภัสรา ภาณุพัฒนา” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี ให้สัมภาษณ์ “www.HoonSmart.com” ว่า SVT ไม่ใช่หุ้นปั่น ราคาปรับตัวขึ้นเป็นไปตามกลไกของตลาด ซึ่งไม่ทราบเหมือนว่าแรงซื้อมาจากนักลงทุนกลุ่มไหน บริษัทไม่ได้เข้าไปทำอะไร เมื่อหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็โฟกัสธุรกิจ ขยายการลงทุน เพื่อให้เติบโตตามเป้าหมายที่เขียนไว้ในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (IPO)
“เราสนใจว่าจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างไร ยิ่งมูลค่ากิจการขึ้นมามากเท่าไร ก็ต้องยิ่งวิ่งไปข้างหน้า หุ้นขึ้นมาขนาดนี้เป็นภาระและความรับผิดชอบ ต้องทุ่มแรง ทุ่มใจ สร้างผลตอบแทนให้คุ้มค่า เมื่อนักลงทุนเชื่อมั่นมาก ก็ยิ่งท้าทาย”อาภัสรากล่าว
ส่วนเหตุผลที่ทำให้หุ้น SVT ได้รับความสนใจสูงมาก ภายหลังจากเข้าตลาด อาจจะเป็นเพราะบริษัทอยู่ในเครือสหพัฒน์ (สหพัฒนพิบูล) บริษัทเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกขายสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending machine) ในประเทศไทยแบบครบวงจรมากว่า 20 ปี มีฐานรากธุรกิจที่แข็งแรง มีความชำนาญ มีโรงงานปรับปรุงสภาพและประกอบเครื่องอัตโนมัติที่ใหญ่ มีโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง ทำให้สามารถเติบโตได้ดีในอนาคต
นอกจากนี้ SVT เป็นหุ้นเทคค้าปลีกตัวแรกที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ เมื่อตอนนำเสนอข้อมูล(โรดโชว์) เพื่อเสนอขายหุ้น นักลงทุนสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศให้ความเชื่อมั่นกับบริษัทมาก รวมถึงนักลงทุนบุคคลด้วย ดังนั้นตอนเสนอขายหุ้น จึงมีความต้องการซื้อหุ้นสูงกว่าปริมาณที่จัดสรรให้ ทำให้อาจจะเป็นไปได้ที่ตามเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มในตลาด
ขณะเดียวกันหุ้นของผู้ถือหุ้น และผู้บริหาร รวมจำนวน 52% ของทุนเรียกชำระแล้ว ติดไซเรนพีเรียด (ห้ามนำออกมาขายภายในระยะเวลาที่กำหนด) ซึ่งรวมถึงหุ้นตัวเองด้วยที่ถือ 1% ก็ยังนำไปฝากไว้ด้วย
” แม้ว่างบในปี 2563 จะทำกำไรไม่มากเท่าไร คือ 65 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้ามีกำไรสุทธิ 105 ล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายได้เติบโตน้อยลง และอัตรากำไรสุทธิลดเหลือ 4% จากที่เคยทำได้ 7% ส่วนในปี 2564 ตั้งเป้ารายได้จะเติบโต 20% แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอกสามและสี่ คาดว่าจะโตเพียง 10% ส่วนปีหน้ามองว่าจะโต 25% และที่สำคัญ ธุรกิจของเราเป็นเงินสด สัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E) ต่ำ ไม่ถึง 1 เท่า”
ด้านราคาหุ้น SVT ที่พุ่งแรง สร้างกำไรให้แก่ผู้ที่จองซื้อ IPO รวมถึงนักลงทุนทุกคน โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัว”โชควัฒนา”จากโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ มีบริษัทสหพัฒนพิบูล (SPC) ถือหุ้นมากที่สุด 12.68% ตามด้วยบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) สัดส่วน 7.14% บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล (ICC) 5.89% บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรี่ส์ 3.57%เท่ากับบริษัทไทยวาโก้ (WACOAL) ทั้งนี้ บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรี่ส์ เป็นการร่วมทุนของ SPI 25%,ICC 19.56% SPC 9.8% และนายบุญเกียรติ โชควัฒนาถือ 7.97% บริษัทมีมาร์เก็ตแคปถึง 4,725 ล้านบาท มีทุนเรียกชำระแล้ว 700 ล้านบาท พาร์ 1 บาท/หุ้น
ส่วนหุ้น SVT ที่ปรับตัวขึ้นแรง ระหว่างวันขึ้นไปทำ All Time High ที่ระดับ 7.45 บาท ก่อนมาปิดที่ระดับ 6.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.90 บาท หรือ 15.38% ด้วยมูลค่าการซื้อขายสูงกว่า 4,820.65 ล้านบาท ทั้งนี้ราคาปิดที่ 6.75 บาท คิดเป็นระดับ P/E สูงถึง 72.31 เท่า และP/BV สูงกว่า 5.4 เท่า เทียบกับมูลค่าหุ้นทางบัญชี (บุ๊ก)อยู่ที่ 1.25 บาท/หุ้น ณ วันที่ 30 มิ.ย.2564 สูงมากเมื่อเปรียบกับหุ้นในหมวดธุรกิจพาณิชย์ด้วยกัน เช่น CPALL ราคาปิดที่ 63.50 บาท เทรดที่ P/E 46.15 เท่า
บล.หยวนต้า(ประเทศไทย)มีมุมมองบวกกลุ่มค้าปลีก หลังจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ก.ย ฟื้นตัวในรอบ 7 เดือน ตอบรับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดคลี่คลาย พร้อมทั้งมาตรการผ่อนคลายของภาครัฐและกระตุ้นเศรษฐกิจ ในไตรมาสที่ 3/2564 คาดว่าการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (SSSG) ของกลุ่มค้าปลีกเฉลี่ยโดยรวมติดลบ 3.4% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน กลุ่มปรับปรุงบ้านโตเฉลี่ย 5% แต่กลุ่มอุปโภคบริโภคหดตัว 9.8% สะท้อนถึงเป็นไตรมาสที่น้อยสุดของปี ซึ่งเป็นผลกระทบจากการล็อกดาวน์
แนวโน้มสถานการณ์โควิดดีขึ้น บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยเริ่มกลับมา รอผลตอบรับเชิงบวกจากแผนเตรียมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ส่งผลต่อ BJC, CPALL, CPN, CRC ขณะที่ GLOBAL,DOHOME ยังได้ปัจจัยหนุนจากงบประมาณภาครัฐที่ต่อเนื่อง รายได้เกษตรกรที่ดี ขณะที่ผลกระทบจากน้ำท่วมส่งผลต่อให้สินค้าเพื่อการซ่อมแซมมียอดขายเพิ่ม ผ่านช่วงหน้าฝนเตรียมเข้าสู่ช่วงฤดูกาลในไตรมาสที่ 4/2564-ไตรมาส 1/2565