HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยแนะจับตาบจ.ทยอยประกาศกำไรไตรมาส 3/64 สถานการณ์โควิด ทิศทางเงินลงทุนจากต่างประเทศ ราคาพลังงานปัจจัยเมืองนอก ด้านธนาคารกสิกรไทยมองค่าเงินบาทเคลื่อนไหวที่ 33.40-34.20 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 ปีครั้งใหม่ที่ 33.99 บาท
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยมองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (11-15 ต.ค.) ว่าดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,620 และ 1,600 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,675 จุด ตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/64 ของบจ. สถานการณ์โควิด ทิศทางเงินลงทุนจากต่างประเทศ และราคาพลังงานในตลาดโลก
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ดัชนีราคานำเข้าและส่งออกเดือนก.ย. รวมถึงบันทึกการประชุมเฟด
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ย.ของญี่ปุ่น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ย. ของจีน อาทิ ตัวเลขส่งออกและเงินเฟ้อ
หุ้นดีดตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,639.41 จุด เพิ่มขึ้น 2.13% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 91,842.36 ล้านบาท ลดลง 7.08% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.17% มาปิดที่ 560.62 จุด
หุ้นปรับตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ ขานรับความคาดหวังเกี่ยวกับยาต้านโควิดตัวใหม่ สถานการณ์โควิดในประเทศที่มีแนวโน้มทรงตัว ประกอบกับมีแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวขึ้น
อย่างไรก็ดีหุ้นย่อตัวลงช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ตามแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ก่อนจะดีดตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อประเด็นเพดานหนี้สหรัฐฯ ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากแรงซื้อจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและสถาบันในประเทศ
สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (11-15 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 33.40-34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ
เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 ปีครั้งใหม่ที่ 33.99 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ โดยทยอยอ่อนค่าลงสอดคล้องกับหลายสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นตามการปรับขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ โดยมีแรงหนุนจากข้อมูลดัชนี ISM ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนจากการคาดการณ์เกี่ยวกับจังหวะการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวขึ้นในระยะนี้เพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อ
ในวันศุกร์ (8 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.85 เทียบกับระดับ 33.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 ต.ค.)