ส่อง 7 แบงก์กำไร 2.8 หมื่นลบ. ทรุด 31% Q3/Q2 จังหวะช้อปของถูก

HoonSmart.com>> แบงก์ประกาศผลงานไตรมาส 3/64 กลางเดือนต.ค.นี้ นักวิเคราะห์ชวนเก็บ ของถูก ฟันธงกำไรพ้นจุดต่ำสุดแล้ว หลังเจอโควิดรอบใหม่ มองไตรมาส 4 ดีขึ้น บล.กสิกรไทย คาด 7 แบงก์กำไรอยู่ที่ 2.84 หมื่นล้านบาท ลดลง 31.1% จากไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 27% จากปีก่อน เชียร์ซื้อ BBL-TISCO  บล.หยวนต้าชอบ KBANK-KKP บล.เอเชีย เวลท์แนะ  KBANK เด่นสุด บล.เอเซีย พลัส ชู  KBANK-SCB-TISCO

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย  คาดการณ์ธนาคารรวมทั้ง 7 แห่ง (BAY, BBL, KKP, KTB, SCB, TISCO และTTB) มีกำไรสุทธิรวมในไตรมาส 3/2564 อยู่ที่ 28,448 ล้านบาท ลดลง 31.1% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลดลง จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ในเดือน ก.ค.-ส.ค.2564 และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เช่นค่าธรรมเนียมลดลงจากการปิดสาขาในช่วงล็อกดาวน์

ส่วนแนวโน้มในไตรมาส 4  คาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับทั้งไตรมาส 3 และช่วงเดียวกันของปีก่อน ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ทิศทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้กำไรสุทธิปรับตัวได้ดีขึ้น โดยคาดว่าสินเชื่อจะเติบโตไปในทิศทางเดียวกันกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และรายได้ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นจากกองทุน Bancassurance รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับสินเชื่อ

สำหรับการลงทุน บล.กสิกรไทย ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มธนาคาร ได้แก่ 1.การกลับมาเปิดธุรกิจจะช่วยให้กำไรสุทธิมีการฟื้นตัว และความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ลดลง 2.กำไรสุทธิคาดว่าจะเติบโตขึ้นแข็งแกร่งในปี 2565 3.ราคาหุ้นที่ยังถูก ซื้อขายด้วย P/BV เพียง 0.5-0.7 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย P/BV ในอดีต โดยหุ้นเด่น แนะนำ BBL ราคาเป้าหมาย 150 บาท และ TISCO ราคาเป้าหมาย 112 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดการณ์กำไรสุทธิในไตรมาส 3/2564 ของธนาคารทั้ง 7 แห่ง (SCB, KBANK, KTB, BBL, TTB, TISCO และKKP) อยู่ที่ 35,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปีก่อนฐานต่ำ จากการเร่งตั้งสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงผลกระทบโควิด-19 แต่ลดลง 9.2% จากไตรมาสก่อน จากการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ ทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับและรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง รวมถึงการตั้งสำรองสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าด้วย โดยคาดว่า KTB จะเป็นธนาคารที่กำไรสุทธิลดลงมากที่สุด เนื่องจากรับรู้ค่าใช้จ่ายในโครงการลงทุน IT

การลงทุนแนะนำ KBANK ที่ราคาเป้าหมาย 180 บาท  คาดว่าไตรมาส 4 มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น จากการเร่งขยายตลาดสินเชื่อ และการลงทุนใน Digital Platform เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ อีกทั้งราคาหุ้นยังต่ำ P/BV เพียง 0.7 เท่า ส่วนธนาคารขนาดเล็ก แนะนำ KKP ที่ราคาเป้าหมาย 70 บาท เนื่องจากกำไรแข็งแกร่ง คาดว่าไตรมาส 3 กำไรสุทธิลดลงน้อยที่สุดในกลุ่ม เพราะมีรายได้จากตลาดทุนเข้ามาช่วยชดเชยทั้งรายได้ดอกเบี้ยที่อ่อนแอและการตั้งสำรองที่สูงขึ้น

บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ คาดการณ์กำไรสุทธิธนาคารทั้ง 8 แห่ง (SCB, KBANK, KTB, BBL, BAY, TTB, TISCO และ KKP) ในไตรมาส 3 อยู่ที่ 39,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 21.7% เนื่องจากการตั้งสำรองสูงขึ้น , รายได้ดอกเบี้ยชะลอตัวจากการรักษาคุณภาพของสินเชื่อในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวน และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง

ส่วนไตรมาส 4 แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จะเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มธนาคาร เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ โดยหุ้นเด่นแนะนำ KBANK ที่ราคาเป้าหมาย 177 บาท เนื่องจากสินเชื่อเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังอยู่ในกรอบเป้าหมายปี 2564 ช่วยหนุนผลประกอบการในไตรมาส 4 ต่อเนื่องไปถึงปี 2565 รวมไปถึงความล้ำหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่พร้อมสำหรับการปรับตัวไปสู่ยุค Digital Banking

ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส คาดการณ์กำไรสุทธิในไตรมาส 3 ของธนาคาร ทั้ง 6 แห่ง (BBL, KBANK, KKP, KTB, SCB และTISCO) อยู่ที่ 30,024 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ลดลง 9.3% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงล็อกดาวน์ ทำให้ธุรกรรมทางการเงินลดลง  อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปตั้งแต่ไตรมาส 3 ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2565  ฝ่ายวิจัยและ ธปท.คาดบวก 3%และ 3.9% เทียบกับปีก่อน ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อกลุ่มธนาคาร

กลยุทธ์การลงทุนกลุ่มธนาคาร ให้น้ำหนักเท่ากับตลาด เนื่องจากงบดุลยังไม่สะท้อนความเสี่ยงทางด้านเครดิตของลูกหนี้อย่างแท้จริง แต่แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2565 ที่ดีกว่าปีนี้ รวมถึง P/BV ของกลุ่มธนาคารซื้อขายที่ประมาณ 0.7 เท่า โดยหุ้นเด่นแนะนำ KBANK ราคาเหมาะสมที่ 154 บาท , SCB ราคาเหมาะสมที่ 136 บาท ทั้งสองธนาคารมีจุดเด่นในด้าน Digital และได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวมากที่สุด  และแนะนำ TISCO ที่ราคาเหมาะสม 104 บาท งบดุลแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่ม คาดว่าการจ่ายปันผลมากที่สุดด้วยเช่นกันที่ประมาณ 7-8% ต่อปี