HoonSmart.com>> “กองทุนรวม” 9 เดือนปี 64 เติบโต 2.4 แสนล้านบาทจากสิ้นปีก่อน เพิ่มกว่า 4.79% มูลค่าสินทรัพย์แตะ 5.28 ล้านล้านบาท ตลาดหุ้นทั่วโลกแจกกำไร หนุนกองทุนหุ้นอู้ฟู่ขึ้น 2.88 แสนล้านบาท กองทุนต่างประเทศโตต่อเนื่องกว่า 25% มูลค่าแตะ 1.21 ล้านล้านบาท “บลจ.กรุงไทย” ปั๊มสินทรัพย์ปีนี้เพิ่มขึ้นสูงสุด 6.2 หมื่นล้านบาท ด้าน “บลจ.วรรณ” โตโดดเด่น
สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) อุตสาหกรรมกองทุนรวมในช่วง 9 เดือนปี 2564 สิ้นสุด 30 ก.ย.ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 5,279,110 ล้านบาท เติบโต 241,323 ล้านบาท หรือ 4.79% จากสิ้นปี 2563 ที่มีมูลค่า 5,037,786 ล้านบาท แต่เทียบสิ้นเดือนส.ค.2564 เติบโตลดลง 10,544 ล้านบาท หรือ -0.20%
หากแยกตามประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุนในช่วง 9 เดือนแรกพบกองทุนที่ลงทุนในหุ้นยังคงเติบโตต่อเนื่อง มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่ม 288,373 ล้านบาท หรือ 19.89% จากสิ้นปีที่ผ่านมามีมูลค่า 1,450,036 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,738,410 ล้านบาท จากราคาหุ้นหลายตลาดทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เพิ่มขึ้น 12,417 ล้านบาท หรือ 6.46% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 192,130 ล้านบาท เป็น 204,548 ล้านบาท
ขณะที่กองทุนที่ลงทุนตราสารหนี้มีมูลค่าสินทรัพย์ลดลง 29,047 ล้านบาท หรือ -1.25% อยู่ที่ 2,294,834 ล้านบาท จาก 2,323,881 ล้านบาท กองทุนผสมลดลง 12,343 ล้านบาท หรือ -3.21% จาก 384,708 ล้านบาท อยู่ที่ 372,366 ล้านบาท กองทุนโครงสร้างพื้นฐานลดลง 6,053 ล้านบาท หรือ -1.50% จาก 402,280 ล้านบาท เหลือ 396,226 ล้านบาท
สำหรับกองทุนเพื่อไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) ยังคงเติบโตโดดเด่น 9 เดือนแรกสินทรัพย์เติบโต 242,479 ล้านบาท หรือ 25.10% จากมูลค่า 965,922 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1,208,401 ล้านบาท
ขณะที่กองทุนมันนี่ มาร์เก็ต ที่เป็นแหล่งพักเงินมีมูลค่าลดลงต่อเนื่องรวม 64,863 ล้านบาท หรือ -20.07% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 323,261 ล้านบาท เป็น 258,398 ล้านบาท เป็นต้น
ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ที่มีอัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในรอบ 9 เดือนแรกสูงสุด ได้แก่ บลจ.บางกอกแคปปิตอล เติบโต 75.92% หรือ 9,878 ล้านบาท จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 13,011 ล้านบาท เพิ่มเป็น 22,889 ล้านบาท อันดับสอง บลจ.เอไอเอ เติบโต 39.31% หรือ 9,732 ล้านบาท จาก 24,756 ล้านบาท เป็น 34,489 ล้านบาท
อันดับสาม บลจ.ฟิลลิป เติบโต 35.78% หรือ 964 ล้านบาท จาก 2,696 ล้านบาท เป็น 3,660 ล้านบาท อันดับสี่ บลจ.วรรณ เติบโต 34.66% หรือ 21,134 ล้านบาท จาก 60,983 ล้านบาท เป็น 82,117 ล้านบาทและอันดับห้า บลจ.ทิสโก้ เติบโต 28.06% หรือ 14,919 ล้านบาท จาก 53,161 ล้านบาท เป็น 68,080 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากมูลค่าสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บลจ.กรุงไทย เพิ่มขึ้น 62,111 ล้านบาท หรือ 9.95% จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 624,011 ล้านบาท เป็น 686,122 ล้านบาท รองลงมา บลจ.กสิกรไทย เพิ่มขึ้น 58,634 ล้านบาท หรือ 5.27% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 1,111,626 ล้านบาท เป็น 1,170,259 ล้านบาท อันดับสาม บลจ.กรุงศรี เพิ่มขึ้น 31,257 ล้านบาท หรือ 8.09% จาก 386,264 ล้านบาท เพิ่มเป็น 417,521 ล้านบาท
อันดับสี่ บลจ.วรรณ เพิ่มขึ้น 21,134 ล้านบาท หรือ 34.66% จาก 60,983 ล้านบาท เป็น 82,117 ล้านบาท อันดับห้า บลจ.ทิสโก้ เพิ่ม 14,919 ล้านบาท หรือ 28.06% จาก 53,161 ล้านบาท หรือ 68,080 ล้านบาท