WHAUP ย้ำเป้ารายได้ปีนี้โต 25% ครึ่งหลังสดใส เจรจาซื้อธุรกิจเวียดนาม

HoonSmart.com>> “ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์” ตั้งเป้ารายได้ปี 64 โต 25% ครึ่งปีหลังโต ได้ลูกค้าใหม่ -ลูกค้าเดิมดีขึ้น คาดปริมาณขายน้ำปีนี้แตะ 153 ล้านลูกบาศก์เมตร  กำลังการผลิตไฟฟ้าที่เซ็นสัญาซื้อไฟฟ้าแล้วเพิ่มขึ้นแตะ 670 เมกะวัตต์ จ่อ COD เพิ่มอีก 9 โครงการ วางเป้า Solar Rooftop แตะ 90 เมกะวัตต์ วางเงินลงทุนปีนี้ 1.9 พันล้านบาท ใช้ขยายธุรกิจ กำลังเจรจาซื้อโครงการน้ำ-พลังงาน ที่เวียดนาม

ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2564 จะเติบโตที่ระดับ 25% จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 1,777.92 ล้านบาท โดยเติบโตจากธุรกิจน้ำ ที่มีลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ และธุรกิจพลังงาน ก็มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น    คาดว่าจะมีสัดส่วนธุรกิจน้ำจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 59% และธุรกิจพลังงานลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 40% และตั้งเป้ารักษาอัตรากำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคาดอกเบี้ยและภาษี (EBITDA Margin) ให้อยู่ที่ระดับไม่น้อยกว่า 50%

ขณะที่แนวโน้มในครึ่งหลังของปี 2564 คาดว่าจะเติบโตดีขึ้นต่อเนื่องจาก 6 เดือนแรกที่ผ่านมา ที่มีรายได้อยู่ที่ 1,571.1 ล้านบาท โดยเฉพาะธุรกิจน้ำ ตั้งเป้าปริมาณขายน้ำในปีนี้ไว้ที่ 153 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปีก่อนอยู่ที่ 114 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา  เติบโตแล้วกว่า 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากทั้งลูกค้าใหม่ และลูกค้าเดิม ในกลุ่มโรงไฟฟ้าและกลุ่มปิโตรเคมี ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ GSRC ของ บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ขนาด 2,650 เมกะวัตต์ ที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในส่วนของหน่วยผลิตที่ 1 ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และจะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในส่วนของหน่วยผลิตที่ 2, 3 และ 4 ที่เหลือภายในปี 2565  คาดว่าจะมียอดจำหน่ายน้ำเฉพาะจากโครงการดังกล่าวในปี 2565 ไม่น้อยกว่า 16.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม เช่น โครงการ Wastewater Reclamation การผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) โดยใช้เทคโนโลยีเมมเบรนรี เวิร์สออสโมซิส โดยตั้งเป้าในปี 2568 จะมีปริมาณขายน้ำมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 13% จากปัจจุบันอยู่ที่ 4% ของปริมาณน้ำที่ขายทั้งหมด ควบคู่ไปกับการพัฒนา Smart Utilities Service Platform และ Innovative Solution เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ

ส่วนของธุรกิจน้ำที่ประเทศเวียดนามก็มีการเติบโตเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะโครงการดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (SDWTP) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 34% โดยมีความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในจังหวัดฮานอย และจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดบั๊กนิญ  และจังหวัดฮึงเอียน  ในขณะที่ บริษัท เก๋อ หล่อ วอเตอร์ ซัพพลาย  บริษัทผลิตและจำหน่ายน้ำประปาที่บริษัทฯ ถือหุ้น 47% ปัจจุบันได้มีการขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็น 8.4 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรองรับการเติบโตของประชากรที่สูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำประปาเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ

ด้านธุรกิจด้านพลังงาน บริษัทฯยังคงมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพัฒนาโซลูชันพลังงานหมุนเวียน ผ่านการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาให้บริการกลุ่มลูกค้าทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม โดยในปี 2564 ตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วทั้งสิ้น 670 เมกะวัตต์  เติบโตหลักมาจากการโครงการ Solar Rooftop  คาดครึ่งปีหลัง จะมีโครงการที่เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและจะดำเนินการเชิงพาณิชย์อีกประมาณ 9 โครงการ จากครึ่งแรกมีกำลังการผลิตรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปแล้ว 596 เมกะวัตต์

ในปี 2564  มีการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว อาทิ โครงการคอนติเนนทอล ไทร์ส ซึ่งตั้งในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 และโครงการของฮอนด้า จังหวัดปราจีนบุรี ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 2  โครงการ Solar Rooftop บริษัทฯ เปิดดำเนินการแล้วรวมทั้งสิ้น 46 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม  63 เมกะวัตต์ จากเป้าปี 2564 ที่วางไว้ 90 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะขยายธุรกิจได้ครบ 300 เมกะวัตต์ในปี 2566 ตามแผนที่วางไว้

นอกจากนี้บริษัทมุ่งเน้นพัฒนาโซลูชันนวัตกรรม บร่วมมือกับพันธมิตรด้านพลังงานชั้นนำ อาทิ บริษัท ปตท. (PTT) และ บริษัท เซอร์ทิส พัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะ เพื่อซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ได้แก่ ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ P2P Energy Trading โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดลองด้านนวัตกรรมพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ERC Sandbox) พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังทดสอบการนำระบบกักเก็บพลังาน Battery Energy Storage System (BESS) มาใช้ควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เริ่มติดตั้งที่โรงกรองน้ำของบริษัทฯ ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิรน์ซีบอร์ด (ระยอง) และมีแผนที่จะขยายไปยังสถานประกอบการอื่นๆ และเสนอเป็นบริการให้แก่ลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ของบริษัท

” แนวโน้มธุรกิจในปี 2565 เรายังไม่ได้มีเป้าหมายที่ชัดเจน คาดว่าในช่วงต้นปีจะสามารถนำเสนอแผนการดำเนินธุรกิจ เป้าหมายต่างๆ และเงินลงทุนสำหรับขยายธุรกิจ  โดยเราวางเงินลงทุน 5 ปี (2564-2568) ไว้เบื้องต้นประมาณ 12,000 ล้านบาท” ดร.นิพนธ์ กล่าว

บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าแสวงหาโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการต่างๆ เพื่อเสริมศักยภาพการเติบโต เป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นการเติบโตทางธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นทั้งด้านพลังงานทดแทนและสาธารณูปโภค เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงานของภูมิภาค ปัจจุบันมีเจรจาโครงการพลังงานและน้ำ ที่ประเทศเวียดนาม ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องของราคา โดยปี 2564 ตั้งเงินลงทุนไว้ที่ 1,900 ล้านบาท ใช้ในการขยายธุรกิจและซื้อกิจการ ซึ่งยังมีความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนเพิ่ม จากปัจจุบันที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ระดับ 1 เท่า

ดร.นิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า บริษัทได้จัดตั้งทีมงานเพื่อเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง คอยติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด และมีบ่อน้ำเพื่อรองรับน้ำ ในกรณีที่เกิดน้ำไหลหลากเข้ามาในบริเวณนิคมอุตสาหกรรม และตั้งเครื่องปั้มน้ำ ใช้ในการระบายน้ำออก กรณีเกิดน้ำขัง จะได้สูบน้ำออกได้อย่างทันท่วงที