HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยให้แนวรับ 1,590 และ 1,580 จุด แนวต้านอยู่ที่ 1,610 และ 1,620 จุด ด้านธนาคารกสิกรไทยคาดเงินบาทมีโอกาสเห็น 34 บาท/ดอลลาร์ สัปดาห์ที่จะถึง
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (4-8 ต.ค.) ว่า ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,590 และ 1,580 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,610 และ 1,620 จุด ตามลำดับ
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิดทั้งในและต่างประเทศ สถานการณ์น้ำท่วม การประชุมโอเปกพลัส (4 ต.ค.) ทิศทางเงินลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนสถานการณ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีน
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนี PMI เดือนก.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ข้อมูลดัชนี PMI เดือนก.ย.ของยูโรโซน ญี่ปุ่นและจีน ตลอดจนดัชนีราคาผู้ผลิตและยอดค้าปลีกเดือนส.ค. ของยูโรโซน
หุ้นร่วงลงแรงจากสัปดาห์ก่อนแต่ยังไม่หลุดแนว 1,600 จุด โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,605.17 จุด ลดลง 1.59% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 98,836.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.77% ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.19% มาปิดที่ 543.41 จุด
หุ้นร่วงลงแรงเกือบตลอดสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ประกอบกับมีแรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ซึ่งอาจเกิดจากการทำ Window Dressing ก่อนปิดไตรมาส 3/64 นอกจากนี้ ความกังวลต่อสถานการณ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีน ความเสี่ยงเงินเฟ้อ และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ก็เป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นภูมิภาค รวมถึงหุ้นไทย ในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน
ส่วนค่าเงินบาทสำหรับสัปดาห์ถัดไป (4 -8 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหว ที่ 33.20-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ
เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 ปี ที่ 33.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่สามารถฟื้นตัวได้บางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงสิ้นไตรมาส ประกอบกับมีแรงกดดันจากสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เพิ่มช่วงบวกได้ต่อตามกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการถอยออกจากมาตรการผ่อนคลายของเฟดในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ช่วงปลายสัปดาห์ หลังเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่เพิ่มมากกว่าที่คาด ประกอบกับตลาดยังติดตามปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
ในวันศุกร์ (1 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.63 เทียบกับระดับ 33.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (23 ก.ย.)