หยวนต้า-เมย์แบงก์ฯ-ทรีนีตี้ แจกกลยุทธ์ต.ค. รอช้อน 1,550 จุด

HoonSmart.com>> หุ้นเดือน ต.ค.ผันผวน บล.หยวนต้า คาดปรับขึ้นครึ่งเดือนหลัง แนะหุ้นงบดี ชอบ TU-SUN-NER-BJCHI-BANPU มองเป้าสิ้นปี 1,680 จุด ด้านบล.เมย์แบงก์ฯ ชอบ KBANK-TU-CPN-GULF-NER-JMT ให้แนวรับ 1,550-1,580 จุด ทยอยสะสม ตลาดจะเริ่มฟื้นตามเศรษฐกิจเดือน พ.ย. คาดดัชนีปีนี้ 1,660 จุด ส่วนปีหน้า 1,750 จุด “ทรีนีตี้” ให้กรอบ 1,550-1,650 จุด ไม่ต้องรีบซื้อ เชียร์ 15 หุ้นอิงการบริโภคภายในประเทศ  

“ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หุ้นในครึ่งแรกของเดือน ต.ค.นี้ คาดดัชนีจะเคลื่อนไหวผันผวน ยังมีปัจจัยกดดันจากวิกฤตน้ำท่วมและการปรับขึ้นเพดานหนี้ของสหรัฐ ก่อนจะถึงกำหนดเส้นตายในวันที่ 18 ต.ค.นี้ ซึ่งเมื่อถึงวันที่กำหนดขึ้นเพดานหนี้ ไม่น่าจะมีแรงกดดันต่อตลาดมากอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยกดดันจากประเทศจีน เกี่ยวกับพลังงานในประเทศที่ขาดแคลน และบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ที่ผิดนัดชำระหนี้

ส่วนแนวโน้มในครึ่งเดือนหลัง เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น จากปัจจัยต่างๆที่จะเริ่มคลายตัว รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 และจะได้รับ Sentiment เชิงบวก ตามทิศทางของตลาดสหรัฐ ที่โดยปกติช่วงกลางเดือน ต.ค.-พ.ย. ภาพการลงทุนค่อนข้างเป็นบวก นอกจากนี้กำไรของกลุ่มธนาคารที่จะทยอยประกาศออกในช่วงกลางเดือนนี้  ไม่ได้มีแรงกดดันมาก เนื่องจากนักลงทุนไม่ได้คาดหวังว่างบการเงินจะออกมาดี

กลยุทธ์การลงทุนประจำเดือน ต.ค.นี้ จึงแนะนำเลือกหุ้นรายตัว เน้นหุ้นที่แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3/2564 ดี แนะนำหุ้นเด่น ได้แก่ TU, SUN, NER, BJCHI และ BANPU ส่วนทิศทางตลาดหุ้นในไตรมาส 4 คาดว่าดัชนีเคลื่อนไหวแกว่งตัว โดยมองเป้าหมายสิ้นปีนี้ที่ 1,680 จุด ให้แนวรับที่ 1,550 จุด ซึ่งยังมีแรงกดดันจากการปรับลดวงเงิน QE ของธนาคารกลางสหรัฐ

“ไตรมาสที่ 4 แนะนำหุ้นกลุ่มธนาคาร , ท่องเที่ยว , ขนส่ง , โรงไฟฟ้า และสื่อสาร อาจจะมีแรงบวกจากทิศทาง Fund Flow ที่กลับเข้ามาบ้าง จากความคาดหวังเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวได้ดีในปี 2565″ณัฐพลกล่าว

“วิจิตร อารยะพิศิษฐ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า การลงทุนช่วงเดือน ต.ค.เลือกหุ้นเด่นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว หุ้นใหญ่แนะนำ KBANK, TU, CPN และ GULF และหุ้นขนาดกลางแนะนำ JMT และ NER แม้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 ของเดือนนี้ ดัชนีอาจจะเคลื่อนไหวผันผวน จากการปรับขึ้นเพดานหนี้ของสหรัฐก็ตาม  อีกปัจจัยกดดันมาจากเศรษฐกิจของประเทศจีนที่เริ่มอ่อนตัวลง และการแก้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของ ไชน่า เอเวอร์แกรนด์  และการนำเข้าทรัพยากรพลังงาน เพื่อมาใช้ทดแทนพลังงานในประเทศที่ขาดแคลน เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายและทิศทางเริ่มดีขึ้น ดัชนีอาจจะเริ่มแกว่งตัวขึ้นได้ และจากความคาดหวังการเปิดเมืองในช่วงเดือน พ.ย.นี้

สำหรับเป้าหมายดัชนีสิ้นปี 2564 ที่ 1,660 จุด แนวรับล่างมองไว้ที่ 1,550-1,580 จุด สามารถทยอยสะสมได้ การลงทุนในไตรมาส 4 แนะนำหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการดีตั้แต่ไตรมาส 4 ถึงปี 2565 หุ้นเด่น TU ,JMT และแบ่งไม้ทยอยสะสมหุ้น TOA และ KBANK ซึ่งช่วงประกาศงบไตรมาส 3 อาจจะมีจังหวะปรับตัวลดลงมาบ้าง เนื่องจากได้รับผลกระทบการล็อกดาวน์ในช่วงก่อน

” ทิศทางของ Fund Flow ผมคิดว่ายังไม่กลับเข้ามาในปี 2564 ซึ่งปัจจุบันยังมียอดขายสุทธิประมาณ 2.6 แสนล้านบาท แต่ในปี 2565 อาจจะมีโอกาสซื้อกลับมาได้ เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้นกว่าปี 2564 มองเป้าหมายดัชนีปี 2565 ที่ 1,750 จุด ส่วนการลดวงเงิน QE คงไม่ได้มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เม็ดเงินจะไหลออกคงไม่มาก หรืออาจจะมีผลกระทบเชิงลบแค่เชิง Sentiment ตามทิศทางตลาดดาวโจนส์” วิจิตร กล่าว

“ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ เปิดเผยทิศทางการลงทุนเดือน ต.ค.ว่า ดัชนีจะเแกว่งตัวในกรอบ 1,550-1,650 จุด ปัจจัยสำคัญจะอยู่ที่พัฒนาการของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หากมีตัวเลขเศรษฐกิจใดที่ทำให้ความเชื่อ Dot plots ของเฟด เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น จะทำให้ระดับ Fed Funds futures ในตลาดยกตัวสูงขึ้นได้ จนส่งผลให้บอนด์ยีลด์และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้นด้วยเช่นกัน กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกผ่านมาตรวัด Earning yield gap ที่ลดลง

ปัจจัยในประเทศคงต้องติดตามพัฒนาการเชิงบวกด้านวัคซีนและการคลายล็อกดาวน์มากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักมากขึ้น ไม่นับรวม Upside risk ที่อาจเกิดขึ้น หากภาครัฐประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ หลังจากปรับเพิ่มระดับเพดานหนี้สาธารณะมาอยู่ที่ 70% ของจีดีพีไปก่อนหน้านี้ ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จริงจะส่งผลบวกต่ออุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ

ณัฐชาต กล่าวว่า ในเชิงกลยุทธ์แนะนำเพียงแค่การถือครองหุ้นที่เข้าสะสมก่อนหน้านี้ที่บริเวณดัชนี 1,600 จุด ยังไม่แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักใหม่ จนกว่าดัชนีจะลงมาใกล้เคียงระดับแนวรับที่ 1,550 จุด และยังคงโฟกัสไปที่กลุ่มหุ้น Domestic play โดยเฉพาะการบริโภคที่อิไปกับการฟื้นตัวของภาคแรงงานและการบริโภคภายในประเทศ นอกจากนั้นยังได้ประโยชน์จากภาวะ ความชัน Yield curve ขาขึ้น และมีลุ้นรับข่าวเชิงบวกจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐ

สำหรับหุ้นที่แนะนำมี 15 บริษัท 1.กลุ่มค้าปลีก CPALL, COM7, MAKRO, HMPRO, GLOBAL, DOHOME 2.กลุ่มโรงไฟฟ้า GULF, GPSC, BGRIM 3. สถานีน้ำมัน OR และ PTG 4.กลุ่มธุรกิจ AMC ที่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ SCB แต่ราคากลับปรับตัวลงมาแรง ได้แก่ JMT, CHAYO 5. TTB มีลุ้นเข้าสู่ดัชนี MSCI Thailand Standard Index ในรอบถัดไป และ AWC ลุ้นเข้าสู่ดัชนี SET50 ในรอบถัดไป

อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังต้องติดตามปัจจัยสำคัญในเดือนต.ค.น ได้แก่ 1.ดัชนีภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังคงอ่อนแรงอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อมายังภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ 2.การประชุมร่วมของสมาชิกกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 4 ต.ค. ซึ่งเริ่มมีกระแสคาดการณ์ถึงการคืนกำลังการผลิตเข้าสู่ตลาดในระดับที่สูงขึ้นจากเดิมที่ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน หากเกิดขึ้นจริงเป็นปัจจัยยับยั้งการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบชั่วคราวได้ 3. ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ในวันที่ 8 ต.ค.หากออกมาดีมากจะส่งผลต่อคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยกดดันต่อตลาดทุน และ 4.การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ซึ่งมองว่าข่าวร้ายได้อยู่ในราคาไปค่อนข้างมากแล้ว โดยเฉพาะกลุ่ม Domestic demand ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์