ธปท.เตือนไทยปรับตัว-สร้างภูมิคุ้มกัน-เพิ่มความสามารถของเศรษฐกิจ

HoonSmart.com>>ผู้ว่าธปท.เตือนไทยอยู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง ยอมรับเศรษฐกิจไทยไม่มีภูมิคุ้มกันต่อความท้าทายต่างๆ แนะ 7 แนวทางเพิ่มความสามารถของเศรษฐกิจไทย สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน BOT SYMPOSIUM 2021 “สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย” ว่าปี 2564 เป็นปีที่มีความท้าทาย ไม่เพียงแต่การเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

ดังนั้น หากประเทศไทยจะก้าวต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน (resiliency) จำเป็นต้องมี “ภูมิคุ้มกัน”อย่างน้อย 3 ประการ คือ (1) ความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ (ability to avoid shocks) (2) ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น (ability to withstand shocks) และ (3) ความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบดังกล่าว (ability to recover from shocks) แต่ปัจจุบันไทยมีขีดจำกัดในทุกด้าน ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่มีภูมิคุ้มกันต่อความท้าทายต่าง ๆ

การทำให้เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันต่อความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคตนั้น ต้องเพิ่มความสามารถของเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้าน คือ (1) เพิ่มความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบ (2) เพิ่มความสามารถในการรับมือกับผลกระทบ และ (3) เพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบ ซึ่งมี 7 แนวทาง ได้แก่
1. ต้องมีการบริหารความเสี่ยงภาพรวมของประเทศ (country risk management) ที่ดี
2. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมรับความท้าทายในอนาคต
3. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงพื้นที่เพื่อกระจายความเสี่ยงให้ดีขึ้น
4. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ
5. ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง
6. สร้างโครงข่ายความคุ้มครอง (safety nets) ในทุกระดับเพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจอยู่รอดได้ในยามวิกฤต
7. ลดการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในยามวิกฤต

“ธปท.ก็มีบทบาทในการส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันต่อความท้าทายต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ โดยการดำเนินนโยบายรักษาเสถียรภาพทางการเงินและระบบการเงิน ด้านสังคมโดยการพัฒนาระบบการเงินและส่งเสริมความเข้าใจทางการเงิน และด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวไปในทิศทางที่ยั่งยืนมากขึ้น”ผู้ว่าการธปท.กล่าว