HoonSmart.com>>KTC หวังไตรมาส4 การใช้จ่ายปรับตัวดีขึ้น รับการผ่อนคลายมาตการ และช่วงเทศกาล โดยเดือนส.ค.การใช้จ่ายชะลอตัวมากสุด ผลจากการปิดเมืองของรัฐบาล ล่าสุดจับมือ ธ.ก.ส.รับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิตผ่านระบบ QR Credit Card Payment ตั้งเป้าสิ้นปีมีร้านค้าเข้าโครงการ 2,500 แห่ง
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) ยอมรับว่าเดือนส.ค. 2564 การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ในหลายจังหวัด ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส-19 แต่หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการในเดือนก.ย. ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรปรับตัวดีขึ้น ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากรัฐบาลไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์อีก ก็เชื่อว่าสถานการณ์การใช้จ่ายจะดีขึ้น
ทั้งนี้เพื่อรองรับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในสถานการณ์ที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด19 KTC ได้ร่วมมือกับ ธ.ก.ส.ต่อยอดบริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิตผ่านระบบ QR Credit Card Payment บนเครือข่ายของวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาของปี 2564 มียอดใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตผ่านระบบ QR Code มูลค่า 110 ล้านบาท หรือเติบโต 90% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเป็นการต่อยอดการทำงานจากปีก่อนหน้า ที่รับชำระด้วย QR Code ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ของ Alipay เพียงอย่างเดียว
พร้อมขยายโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่ม Smart Farmer และกลุ่มร้านค้าขนาดเล็ก (Micro Merchants) โดยจะเปิดให้บริการเดือน ธันวาคม 2564 นี้ สอดคล้องกับการเปิดประเทศรับการท่องเที่ยว จึงตั้งเป้าสิ้นปีนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการถึง 2,500 ร้านค้า จากปัจจุบันที่ ธ.ก.ส. มีร้านน้องหอมจัง 24,000 ร้านค้า
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธนาคารได้ร่วมมือกับเคทีซี เพื่อเปิดช่องทางรับชำระค่าสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการภาคการเกษตรที่เป็นสมาชิกร้านน้องหอมจัง ด้วย QR Credit Card Payment บนเครือข่ายของวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้าชุมชนสร้างไทย ที่พัก โฮมสเตย์ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ร้านกาแฟ ร้านค้าปลีก ชุมชนท่องเที่ยว รถเช่า รถโดยสาร และรถทัวร์ เป็นต้น
และหากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงจะเป็นโอกาสที่ประชาชนมีการใช้จ่ายมากขึ้นและจะทำให้ผู้ประกอบการและชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการเปิดบริการชำระด้วย QR Credit Card Payment เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ช่วยให้เกิดความสะดวกสบายและปลอดภัย
“ธ.ก.ส. มุ่งมั่นยกระดับการให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร โดยให้ความสำคัญกับการขยายโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (SMAEs) สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน ผ่านการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่กว้างขวางมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) จึงได้ร่วมมือกับ KTC เพื่อเปิดช่องทางรับชำระค่าสินค้าและบริการ” นายธนารัตน์ กล่าว