HoonSmart.com>>กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 33.20-33.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ คาด กนง.คงดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 29 ก.ย. 64
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-33.60 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 33.19 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 33.15-33.60 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างสัปดาห์เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 ปี ท่ามกลางความผันผวน เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)คงดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.25% และส่งสัญญาณว่าอาจเริ่มลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์หลังการประชุมในวันที่ 2-3 พ.ย. หากการจ้างงานฟื้นตัวต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่เฟด 9 รายจาก 18 ราย คาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 65 ซึ่งเร็วกว่าที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนมิถุนายน ส่วนประมาณการสำหรับปี 67 บ่งชี้ว่าดอกเบี้ยนโยบายอาจแตะระดับ 1.8% ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) และธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี) คงนโยบายตามคาด แต่มีผู้กำหนดนโยบาย 2 รายของบีโออีลงมติให้ยุติมาตรการซื้อสินทรัพย์ในทันที ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 3,168 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 10,336 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดโลกจะให้ความสนใจกับแนวทางจำกัดผลของวิกฤติสภาพคล่องบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในจีนไม่ให้ลุกลามออกไป ขณะที่ข้อมูลค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนสิงหาคมและดัชนีภาคการผลิตเดือนกันยายนของสหรัฐฯ อาจจะส่งผลต่อการคาดการณ์ทิศทางนโยบายเฟด หลังประธานเฟดระบุว่าบรรลุเงื่อนไขด้านเงินเฟ้อแล้วและใกล้จะบรรลุเงื่อนไขด้านการจ้างงานต่อไป นอกจากนี้ นักลงทุนจะติดตามการแถลงนโยบายต่อสภาของประธานเฟดและรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ รวมถึงฟอรั่มงานอภิปรายจัดโดยธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในการประชุมวันที่ 29 กันยายน ขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดเริ่มคลายตัวและการกระจายวัคซีนที่เร็วขึ้นเป็นสัญญาณบวกต่อการกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเปิดรับนักท่องเที่ยวในระยะถัดไป อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงด้านต่ำของการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความเปราะบางยังมีอยู่มาก ขณะที่ปัญหาอุทกภัยอาจกระทบความเชื่อมั่นได้เช่นกัน
เชื่อว่าทางการพยายามมุ่งเน้นมาตรการเฉพาะจุด เพื่อประสิทธิผลในการช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจาก COVID มากกว่าการใช้เครื่องมือดอกเบี้ยนโยบาย