HoonSmart.com>>ผู้ว่าธปท.ยอมรับเศรษฐกิจไทยปีนี้โตไม่ถึง 1% เตือนทุกภาคส่วนปรับตัวรับกระแสดิจิทัลและการดูแลสิ่งแวดล้อม ที่มาแรงและเร็วกว่าคาด
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวในงานประชุมสามัญประจำปี 2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) หัวข้อ“มาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยุคโควิด”ว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะโตไม่ถึง 1% เพราะวิกฤตโควิดเป็นวิกฤตที่หนัก ส่งผลกระทบในวงกว้างและแรง ทั้งต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและภาคการผลิต แต่เชื่อว่าจะผ่านพ้นจากวิกฤตินี้ไปได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
ผู้ว่าธปท.ย้ำว่า การปรับตัวที่จำเป็นต่อการวางรากฐานในอนาคตให้เศรษฐกิจไทยและธุรกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ในระยะข้างหน้า ต้องเตรียมรับมือ มีอย่างน้อย 2 กระแสที่มาแรงและเร็ว ได้แก่ เรื่องดิจิทัล การใช้ digital footprint ในการทำธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น รวมถึงมีผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องของดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับกระแสดิจิทัลเป็นโจทย์ที่สำคัญกับทุกภาคส่วน
เรื่องที่ 2 ได้แก่ เรื่อง ESG โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบเร็วและแรงกว่าที่คาด ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วม แต่รวมถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจจากการออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น กรณีที่สหภาพยุโรปได้ออก European Green Deal ซึ่งจะมีการบังคับใช้ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM คล้ายกับภาษีที่จัดเก็บตาม carbon footprint ของสินค้าต่าง ๆ
สำหรับภาคธุรกิจ การปรับตัวต้องให้น้ำหนักมากขึ้นกับกระแสโลกใหม่ ทั้งการให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และกระแสเรื่องดิจิทัลที่จะทำให้ธุรกิจต้องแข่งขันกันมากขึ้น
ส่วนประชาชน ต้องเตรียมรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มความสำคัญกับการเท่าทันกับกระแสดิจิทัล เพราะนอกจากจะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับงานในโลกใหม่แล้ว ยังช่วยป้องกันการหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจมีเพิ่มขึ้นได้
สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ นอกจากจะมีหน้าที่ดูแลให้ลูกหนี้ผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้แล้ว สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ การปรับตัวเพื่อรองรับบริบทใหม่ ๆ เช่น การรวมเรื่อง ESG เข้าไปในกระบวนการให้สินเชื่อ การเปิดเผยข้อมูลเรื่องการดำเนินการด้านความยั่งยืน
ซึ่ง ธปท. ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลระบบธนาคารพาณิชย์และทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ ก็ต้องปรับตัวอย่างน้อย 3 ด้าน คือ (1) การดูแลให้บรรยากาศในภาคการเงินเอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงการปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน (2) ต้องเพิ่มสมดุลระหว่างการเอื้อให้มีนวัตกรรมใหม่หรือมีผู้เล่นรายใหม่ กับการดูแลให้ระบบการเงินยังสามารถสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้และมีเสถียรภาพ และ (3) ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนและ SMEs ที่ยังเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของระบบการเงินไทย
ขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องปรับตัวไปสู่การเป็น facilitator โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชนมากขึ้น
“ยอมรับว่าวิกฤตโควิด เป็นวิกฤตที่หนัก ส่งผลกระทบในวงกว้างและแรง ทั้งต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยตัวเลข GDP ติดลบมากที่สุดในรอบ 22 ปี เป็นรองแค่ปี 2541 แต่ตัวเลข GDP ก็อาจยังไม่สะท้อนผลกระทบในวงกว้างที่ภาคธุรกิจและประชาชนต้องเผชิญจากโควิด ซึ่งในรอบนี้ นับได้ว่าเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบแรงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน”ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว