SCB สูงกว่าบุ๊ก ปลุกแบงก์คึก ลุ้น KBANK เปิด “ดีลลับ”

HoonSmart.com>>ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) แสดงอภินิหาร ทำให้หุ้นแบงก์ที่สลบมานาน กลับมาเทรดสนั่น ราคาหุ้นวิ่งยกแผง นักลงทุนยอมจ่ายเงินซื้อหุ้น SCB สูงกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี (บุ๊ก)  1.05 เท่าและ P/E มากกว่า 15 เท่า รวมถึงยังมีแรงเก็งกำไรหุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) หนาแน่นด้วย ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเตรียมประกาศดีลลับ ในสัปดาห์นี้ ดังนั้นจะต้องจับตามองอย่ากระพริบตา…

นักวิเคราะห์ได้เข้าร่วมประชุมนัดพิเศษกับคณะผู้บริหาร SCB เมื่อวันที่ 22 ก.ย. และวันที่ 23 ก.ย.2564 ได้ออกบทวิเคราะห์อย่างพร้อมเพรียงกันมากกว่า 10 แห่ง ทุกรายมีมุมมองบวกต่อการแปลงร่างเป็นฟินเทค ภายใต้ชื่อ  SCB X วาดโอกาสในการการสร้างกำไรโตก้าวกระโดดในช่วง 5 ปีข้างหน้า จึงยังคงแนะนำ” ซื้อ” แต่ส่วนใหญ่กลับยืนราคาเป้าหมายไว้เท่าเดิม มีเพียงบริษัทหลักทรัพย์ 3 แห่ง ที่ปรับราคาเป้าหมายในปี 2565 ขึ้น นำโดยบล.ฟินันเซีย ไซรัส ให้ราคาสูงที่สุด 158 บาท จากเดิมให้ไว้ที่ 136 บาท บล.โนมูระ พัฒนสินเพิ่มเป็น 150 บาท จากระดับ 117 บาท และบล.เอเซีย พลัส ปรับเพิ่มเป็น 136 บาท จากระดับ 122 บาท ยกเว้นบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ที่แนะนำเพียง”ถือ” ให้ราคาเป้าหมายต่ำที่สุดแค่ 115 บาท ต่ำกว่าราคาล่าสุดวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ปิดที่ 130 บาท

“บล.ฟินันเซีย ไซรัส ให้ราคาสูงถึง 158 บาท ประเมินบนธุรกิจบัตรเครดิต Card X และแก้จุดอ่อนในการดำเนินธุรกิจ ทำให้อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) สูงขึ้นเป็น 15-20% จากระดับ 8%ของ SCB  ขณะที่บล.ดีบีเอสฯ คาดว่ากำไรต่อหุ้นปีนี้อยู่ที่ 9.54 บาท เติบโต 15.1% แต่ปี 2565 จะทำได้เพียง 7.80 บาท/หุ้น ลดลง -18.2% เมื่อเทียบกับปีนี้”

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน เพิ่มมูลค่าเหมาะสมถึง 33 บาทต่อหุ้น เลือก SCB เป็น Top pick แผนเชิงรุก digital platform มากขึ้นและรุกสินเชื่อจำนำทะเบียน หนุนอัตราผลตอบแทนสินเชื่อในระยะยาว จึงปรับประมาณกำไรปี 2565-2566 เพิ่มขึ้น 0.4%/0.2% เพื่อสะท้อนทิศทางของประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ดีขึ้น

บล.เอเซีย พลัส มองเป้าหมายระยะยาวเป็นไปในเชิงบวก การคาดหวังการขยายตัวของกำไรในอนาคตราว 1.5 เท่า จากปัจจุบัน พร้อมตั้งเป้าหมายมาร์เก็ตแคป ราว 1 ล้านล้านบาทใน 5 ปี ข้างหน้า แม้เป้าหมายทางการเงินค่อนข้างท้าทาย จากโครงสร้างกำไรช่วงแรกยังคงมาจากธนาคารไทยพาณิชย์ ราว 85 -90% อีก 10%
มาจากธุรกิจที่โอนจากธนาคารไปยัง SCBX และธุรกิจจัดตั้งใหม่ คงประมาณการกำไรปี 2564 – 2566

อย่างไรก็ดีเชื่อว่าระยะยาวจะเห็นพัฒนาการ ROE ที่ดีขึ้น จึงปรับเพิ่ม ROE ระยะยาวเป็น 10% ได้ จากเดิม 9.2% P/BV ที่ 0.99 เท่า (เดิม 0.89 เท่า) ปรับไปใช้มูลค่าเหมาะสม ปี 2565 ที่ 136 บาท

บล.หยวนต้าคงมูลค่าพื้นฐานเดิมปีนี้ที่ 124.50 บาท ยังคงประมาณการกำไรสุทธิ 35,240 ล้านบาท โต 29.5% ตามฐานการตั้งสำรองที่ต่ำลงจากปีก่อน

“SCB มีCatalyst ที่น่าสนใจ และจะเป็นบวกอย่างมีนัยสำคัญในระยะยาว แต่ช่วงสั้นอาจจะยังไม่เห็นผลของการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างมากนัก เพราะรายได้และกำไรกว่า 90% ยังมาจากธุรกิจเดิม”บล.หยวนต้าระบุ

ด้านธนาคารไทยพาณิชย์คาดระยะเวลาการแลกหุ้น SCB เป็น SCB X จะเกิดขึ้นประมาณเดือนม.ค.-ก.พ. 2565  คาดจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนประมาณเดือนมี.ค. และประมาณเดือนมิ.ย. SCB จ่ายเงินปันผลให้ SCB X จำนวน 7 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการซื้อกิจการบางส่วนจากธนาคาร หรือนำไปลงทุนในกิจการใหม่ๆ รวมถึงการจ่ายเงินปันผลตามผลประกอบการและนโยบายของกลุ่ม

ส่วนธนาคารกสิกรไทย 4 บล.ให้เป้าหมายเฉลี่ย 149 บาท บล.ไทยพาณิชย์ตีมูลค่าให้สูงสุด 171  บาท บล.โนมูระ พัฒนสินตีมูลค่าให้ต่ำสุด 135  บาท บล.เอเซีย พลัส และบล.ทิสโก้ประเมินเท่ากัน 145 บาท

บล.โนมูระพัฒนสิน ให้เป้าหมายปีหน้าที่ 135 บาท เพราะมีความเสี่ยงต่อการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้  จากการเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมาและผลกระทบจากสถานการณ์โควิดยืดเยื้อ หุ้นแบงก์ Top pick ยังเลือกธนาคารกรุงเทพ (BBL) เป้าหมาย 157 บาท บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป(TISCO) 115 บาท เพราะคุณภาพสินทรัพย์แข็งกรงจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และการเร่งตั้งสำรองล่วงหน้าไปมากเพียงพอแล้ว

ตอนนี้นักลงทุนชอบหุ้นแบงก์ตัวไหน ก็เลือกซื้อได้ เพราะส่วนใหญ่ยังคงซื้อขายต่ำกว่าบุ๊กและ P/E ต่ำ โดย KBANK เทรดที่ P/BV 0.68 เท่า เทียบกับมูลค่าหุ้นทางบัญชี ที่ 192.81 บาท และ BBL เทรดเพียง 0.48 เท่าเท่านั้น เทียบกับมูลค่าหุ้นทางบัญชี 245.09 บาท แนวโน้มคงจะซื้อราคานี้ไม่ได้แล้ว บนสมมุติฐานว่าทุกธนาคารคงจะต้องเร่งปรับตัวขนานใหญ่ มีกลยุทธ์เด็ด ท่ามกลางสมรภูมิรบไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว