HoonSmart.com>>“เมืองไทย แคปปิตอล” ยืนยันไม่ได้รับผลกระทบจาก SCB X ปล่อยสินเชื่อคนละกลุ่ม มั่นใจปีนี้โต 20-30% ด้าน “บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์” เชื่อผู้เล่นเดิมปรับตัวได้ แนะจับตาแบงก์อื่นปรับองค์กรตาม บล.โนมูระ พัฒนสิน แนะสะสม TIDLOR, MICRO
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) กล่าวถึงการปรับโครงสร้างของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ว่า บริษัทไม่ได้รับผล กระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อของบริษัทเน้นที่รถจักรยานยนต์ และลูกค้าเป็นกลุ่มรากหญ้า ที่มีรายได้ไม่สูงนัก ขณะที่ SCB x เข้ามาทำธุรกิจเป็นกลุ่มรถยนต์
ดังนั้นแผนการขยายสาขาของบริษัทยังเป็นสิ่งที่จำเป็น และจะเดินหน้าเปิดสาขาใหม่ ให้ได้ตามเป้าหมาย ครบ 5,500 สาขา ในสิ้นปี 2564 จากปัจจุบันที่มีจำนวน 5,284 สาขา
สำหรับแนวโน้มธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2564 เชื่อว่าสินเชื่อจะเติบโตได้ 20-30% เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวสินค้าเกษตร ทำให้ครึ่งปีหลังมีทิศทางที่ดีกว่าครึ่งปีแรก
“MTC มีฐานลูกค้า 2 ล้านราย เป็นลูกค้าที่ใช้บริการมานาน จึงเป็นกลุ่มลูกค้าที่บริษัทมีความชำนาญ ดังนั้นการที่จะมีคู่แข่งเข้ามาทำการตลาด ก็ไม่เป็นเรื่องง่าย จึงไม่มีผลกระทบ” นายชูชาติ กล่าว
ด้านนายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า การปรับตัวของ SCB นับเป็นการเพิ่มจุดแข็งและลดจุดอ่อน โดยเพิ่มจุดแข็งในส่วนของพันธมิตร ทั้ง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ที่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก และการมุ่งสู่ Fintech Company เพื่อรองรับโลกในอนาคตและ การผลักดันบริษัทลูกเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
ส่วนการลดจุดอ่อนได้แก่ การอยู่นอกกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้การปรับตัวทำได้สะดวกขึ้น และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารน่าจะดีขึ้น เมื่อเทียบกับการอยู่ภายใต้ธนาคาร
สำหรับรูปแบบโครงสร้างที่เป็นโฮลดิ้งถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการธนาคาร เพราะมีธนาคารที่ทำไปก่อนหน้า เช่น บริษัท ทุนธนชาต (TCAP) หรือ บริษัทแอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) แต่ต้องยอมรับว่า SCB ทำดีกว่า มีความครอบคลุมและชัดเจน
ส่วนการขยายธุรกิจไปยังสินเชื่อรายย่อย แม้จะทำให้ตลาดมีคู่แข่งมากขึ้น แต่เชื่อว่าผู้เล่นเดิม เช่น MTC จะต้องปรับตัว ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง เนื่องจากกลุ่มรากหญ้า ยังมีความต้องการสินเชื่อเป็นจำนวนมาก และเมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว การปล่อยสินเชื่อจะทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังขึ้นกับความชำนาญในการทำธุรกิจ แม้จะมีผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อก็สูงเหมือนกัน
นายประกิต ยังวิเคราะห์ถึงการปรับของธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น เช่น ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) หรือ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ว่า ในส่วนของ KBANK ถือว่ามีศักยภาพที่จะปรับโครงสร้าง เหมือน SCB เพราะปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีบริษัทลูกหลายแห่ง รวมถึง Tech Company และยังมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งหลายราย ส่วน BBL หรือธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น แม้ไม่ปรับโครงสร้างเหมือน SCB แต่เชื่อว่าทุกแห่งจะต้องปรับตัว เพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอนาคต
นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ (Line BK) กล่าวว่า การเป็นบริษัทโฮลดิ้ง มีผลดีทำให้การปรับตัวของธุรกิจทำได้คล่องขึ้น ไม่ติดกับกฎเกณฑ์การเป็นธนาคาร แต่ต้องระวังเรื่องการเชื่อมโยงฐานลูกค้าระหว่างบริษัทลูกกับบริษัทแม่ที่ต้องมีแนวทาง ทำให้ไม่สะดุด
สำหรับการรุกตลาดสินเชื่อรายย่อยของ SCB X จะทำให้ตลาดมีความเข้มข้นมากขึ้น แต่ปัจจุบันการแข่งขันก็มีความรุนแรงอยู่แล้ว ซึ่งการประสบความสำเร็จในธุรกิจจะวัดกันด้วยการประเมินความเสี่ยงของลูกค้า ที่สะท้อนถึงคุณภาพหนี้ และการบริหารลูกค้าใครจะทำได้ดีกว่ากัน
บล.โนมูระ พัฒนสินกล่าวถึงการปรับโครงสร้างของธนาคารไทยพาณิชย์ว่าจะทำให้การแข่งขันมีความรุนแรงมากขึ้น แต่มองว่าไม่กระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะช่วงแรกยังอยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้าง และบริษัทรายเล็กจะได้รับผลกระทบก่อน
ทั้งนี้ได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นภายใต้สมมติฐานพอร์ตที่จะได้รับผลกระทบลดลงทุก 1% สินเชื่อจำนำทะเบียนรถและรถจักรยานยนต์,สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรู,สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะทำให้กำไรสุทธิของกลุ่มมี downside -0.7% โดยคาดว่า MICRO เป็นตัวเดียวในกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบเพราะปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก
ในระยะสั้น ราคาหุ้นกลุ่มสินเชื่ออุปโภคบริโภคอาจมีความกังวลในเรื่องของการรุกสินเชื่อรายย่อยของ SCB ซึ่งคาดว่าผลกระทบต่อกำไรในช่วง 1-2 ปีไม่มาก และกำไรสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 4/2564-2566 คาดฟื้นตัว ดังนั้นมองเป็นโอกาสในการสะสม คงแนะนำซื้อ TIDLOR มูลค่าเหมาะสม 50 บาท และ MICRO เป้าหมาย 11.4 บาท