“SIRI-BCPG” รุกใช้ “เงินดิจิทัล” ซื้อขายไฟฟ้าโซลาร์รูฟ เริ่มก.ย.นี้

“SIRI”จับมือ “BCPG” รุกติดตั้งไฟฟ้าโซล่าร์รูฟท็อปใจกลางสุขุมวิท 77 กำลังผลิต 635 KW ขายลูกบ้านในราคาถูกกว่าปกติ 15% เริ่มก.ย.นี้ ก่อนขยายไปอีก 30 โครงการ รวม 2 MW พร้อมวางระบบซื้อขายไฟฟ้าผ่าน “บล็อกเชน” โดยใช้เงินดิจิทัล “สปาร์ค”

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ (SIRI) เปิดเผยว่า วันนี้ (22 ส.ค.) SIRI ร่วมกับบริษัท บีซีพีจี (BCPG) เปิดตัวระบบแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่แบบ Peer-to-Peer ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เริ่มนำร่องที่โครงการทาวน์สุขุมวิท 77 หรือ T77 เนื้อที่กว่า 50 ไร่ กำลังผลิตไฟฟ้า 635 กิโลวัตต์ และทำการซื้อขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการในเดือนก.ย.นี้ ก่อนจะขยายไปยังโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ SIRI อีก 30 โครงการภายในปี 2563 กำลังการผลิตรวม 2 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ เบื้องต้นโครงการ T77 จะมีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคาใน 5 อาคาร ได้แก่ อาคารคอมมูนิตี้มอลล์ Habito , โรงเรียนนานาชาติ Bangkok Prep , พาร์ค คอร์ท คอนโดมีเนียม , โรงพยาบาลฟัน Dental hospital และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ กำลังการผลิตรวม 635 เมกกะวัตต์

“แต่ละอาคารจะถือเป็น 1 นิติบุคคล และจะซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาของแต่ละอาคารจาก BCPG โดยซื้อในลักษณะเหมาจ่ายผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ในราคาที่ถูกกว่าอัตราค่าไฟฟ้าปกติ 15% แต่เนื่องจากผู้ใช้ในแต่ละอาคารมีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้น ไฟฟ้าที่เหลือหรือไฟฟ้าที่ถูกเก็บไว้ในแบตเตอร์รี่ จะถูกนำไปขายให้กับผู้ใช้ในอาคารอื่นๆ โดยระบบจะเลือกขายให้กับผู้ที่เสนอราคาที่ดีที่สุด ซึ่งประโยชน์ที่ได้ คือ อาคารที่มีรายได้จากการขายไฟฟ้า สามารถนำรายได้ดังกล่าวไปลดค่าส่วนกลางให้ลูกบ้านได้”นายอุทัยกล่าว

อุทัย อุทัยแสงสุข

นายอุทัย กล่าวว่า การร่วมมือกับ BCPG ดังกล่าว เป็นการตอกย้ำนโยบายของ SIRI ในการเป็นผู้นำด้านการสร้างที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ลูกค้าที่ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการของแสนสิริฯ

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ BCPG กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ลงทุนติดตั้งแผงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์และแบตเตอร์รี่ในแต่ละอาคาร รวมถึงลงทุนระบบต่างๆ เช่น บล็อกเชนด้วย เป็นเงิน 30-50 ล้านบาท และจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้ผู้ใช้ในอาคารต่างๆ 3.5 ล้านบาทต่อปี ตลอดอายุสัญญา 25 ปี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการนี้ยังเป็นโครงการนำร่อง แต่ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โครงการลักษณะนี้จะสร้างรายได้และกำไรให้ BCPG ตามต้นทุนแผงและแบตเตอร์รี่ลดลง ประกอบกับภายในปีนี้จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปจากประชาชน

นอกจากนี้ การซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง BCPG และนิติบุคคลแต่ละอาคาร รวมทั้งการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างนิติบุคคล จะเป็นการซื้อขายผ่านระบบบล็อกเชน และใช้สกุลเงินดิจิทัลที่เรียกว่า “สปาร์ค” โดย 1 สปาร์คจะมีค่าเท่ากับ 1 สตางค์ และมูลค่าสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวจะไม่มีการขึ้นลง

“การซื้อขายไฟฟ้าในระบบบล็อกเชนจะใช้เงินดิจิทัลทั้งหมด โดยผู้ซื้อที่เป็นนิติบุคคลของแต่ละอาคาร จะนำเงินจริงมาแลกเป็นเงินดิจิทัล 1 สตางค์แลกได้ 1 สปาร์ค ผ่านเคาน์เตอร์ของ BCPG จากนั้นจึงจะใช้ซื้อขายไฟฟ้าในระบบได้ และเงินดิจิทัลสามารถเอามาแลกเป็นเงินจริงๆผ่านเคาน์เตอร์ของ BCPG ได้เช่นกัน”นายบัณฑิตกล่าว

ทั้งนี้ เงินดิจิทัล “Sparkz Token” ที่ BCPG นำมาเป็นใช้เป็นตัวกลางซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว จะมีลักษณะเหมือนคูปองในศูนย์อาหาร และเป็นเพียงสัญลักษณ์ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าในระบบเท่านั้น จึงไม่ถือเป็นคริปโทเคอร์เรนซี่ และไม่ต้องไปขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่อย่างใด