วิจัยกสิกรฯ เชื่อขยายเพดานหนี้สาธารณะ ”ระยะสั้น” ไม่กระทบเสถียรภาพ

HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ ไม่กระทบเสถียรภาพทางการคลังในระยะสั้น ส่วนใหญ่กู้ในประเทศและเป็นหนี้ระยะยาว แต่ระยะยาวต้องหารายได้เพิ่ม ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ กระตุ้นการเติบโตอย่างยั่งยืน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่า คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังมีมติเห็นชอบขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อ GDP เป็น 70% ต่อ GDP เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาล และไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง ซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากสถานการณ์โควิด ทำให้ภาครัฐมีการใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านทางมาตรการทางการคลัง และคาดว่าจะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของไทยแตะระดับ 60% ต่อ GDP ในปี 2564 นี้

ขณะเดียวกันหลายประเทศทั่วโลกมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ในแทบทุกประเทศทั่วโลกมีการอัดฉีดมาตรการการคลังในการเยียวยาประชากรและกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น จะเห็นยอดหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนนำมาสู่การขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะจะไม่กระทบเสถียรภาพทางการคลังในระยะสั้น โดยรัฐบาลยังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ครบกำหนดได้ เนื่องจากโครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในประเทศและเป็นหนี้ระยะยาว ดังนั้น ความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก อาทิ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการ roll over หนี้ที่ครบกำหนดจึงมีอยู่จำกัด นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนของภาระหนี้ (debt service burden) ในระยะสั้นอยู่ระดับต่ำ

แต่การบริหารจัดการการคลังในระยะกลางถึงยาวเป็นสิ่งที่จำเป็น ต้องมีแผนการจัดหารายได้ภาครัฐเพิ่มเติมเพื่อลดการขาดดุลทางการคลังในระยะข้างหน้า ในขณะที่การใช้งบประมาณต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นจะมีความเสี่ยงมากหรือน้อยยังอยู่ที่ความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดีในระยะข้างหน้า ระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอาจไม่น่ากังวล ดังนั้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคตจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ