“ภากร” เผย ตลาดหลักทรัพย์ฯ หารือ ก.ล.ต.-กระทรวงพาณิชย์ ปิดช่องโหว่ ปกป้องนักลงทุนไม่ให้ซ้ำรอยคดีฉ้อโกงบิทคอยน์ ยอมรับซื้อขายหุ้นนอกตลาดดูแลไม่ได้
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากคดีฉ้อโกงบิทคอยน์ ทำให้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องไปตรวจสอบเพื่อดูว่า กระบวนการต่างๆ ของ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีช่องโหว่ตรงไหนบ้าง เพื่อหามาตรการป้องกันและปกป้องนักลงทุนต่อไป โดยเป็นการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงพาณิชย์
“ในอดีตจะไม่เห็นหน่วยงานภาครัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เยอะขนาดนี้ แต่ครั้งนี้เราเห็นด้วยว่ามีประเด็นที่จะต้องป้องกันสิทธิผู้ถือหุ้น เราจึงค่อนข้างจะ Active และเป็นเคสที่จะกำลังหาวิธีปกป้องนักลงทุน แต่ต้องดูเป็นจุดๆ ไป ว่าตรงไหนในกระบวนการของตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่ดีพอ มีการใช้ช่องโหว่ของตลาด เช่น การทำ KYC การประเมินการยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุน การซื้อนอกตลาด แต่เคสนี้ต้องดูว่าเป็นความพยายามที่จะหลบเลี่ยง ซึ่งการซื้อขายนอกตลาด ฝ่ายกำกับดูแลไม่มีทางเห็น” นายภากร กล่าว
สำหรับการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ผิดปกติ นายภากร กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับตาการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นตัวอยู่แล้ว ซึ่งหากมีความผิดปกติจะให้บริษัทรายงานข่าว โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ
นอกจากนี้ นายภากร กล่าวอีกว่า ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการปฏิรูปกฎเกณฑ์ตลาดทุน (Regulatory Reform) ร่วมกัน เพื่อเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การเสนอขายครั้งแรก (IPO) การจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีแผนที่จะทำเป็น One Stop Service และปรับปรุงกระบวนการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น DW, DR และ ETF ทำได้ง่ายขึ้น
“คาดว่าการทำเป็น One Stop Service และปรับปรุงกระบวนการออก DW จะทำได้ภายในปีนี้” นายภากร กล่าว
สำหรับมาตรการปกป้องนักลงทุนรายย่อย นายภากร กล่าวอีกว่า “ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทำไปหลายอย่างแล้ว เริ่มจากเครื่องหมาย C แต่ในอนาคตจะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาอย่างแน่นอน เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านคุณภาพ ทั้งคุณภาพนักลงทุนและบริษัทจดทะเบียน”
อ่านประกอบ