HoonSmart.com>> บลจ.ไทยพาณิชย์ จ่ายปันผล 4 กองทุน “หุ้นอินเดีย-โกลบอลเฮลธ์แคร์-สมาร์ทแพลน 3-หุ้นระยะยาว เซ็ท อินเด็กซ์” ชี้ตลาดหุ้นอินเดียเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่มี.ค.64 ฝ่าโควิด แนะจับตาการฉีดวัคซีนอาจล่าช้า ราคาน้ำมันเพิ่มกระทบการบริโภค ด้านกลุ่มเฮลธ์แคร์ได้ประโยชน์จากโควิด มองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร นวัตกรรมการแพทย์ใหม่ๆ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเติบโต
นายอาชวิณ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมจ่ายเงินปันผลจำนวน 4 กองทุนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน ประกอบด้วย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นอินเดีย (SCBINDIA) สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 มี.ค.2564 – 31 ส.ค. 2564 กำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.2591 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 10 รวมจ่ายปันผลแล้วทั้งสิ้น 1.3183 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2558) มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ iShares India 50 ETF ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนซึ่งซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ประเทศสหรัฐฯ
กองทุนหลักบริหารโดย BlackRock และมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อินเดีย (CNXNIFTY) เพื่อให้ผลการดำเนินงานของกองทุนก่อนหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี CNXNIFTY กองทุนนี้จัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund India Equity ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. 2564)
ส่วนอีก 3 กองทุน สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ก.ย. 2563 – 31 ส.ค. 2564 ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอลเฮลธ์แคร์ (SCBGHC) กำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.4486 บาทต่อหน่วย โดยได้จ่ายระหว่างกาลแล้วเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 จำนวน 0.2006 บาทต่อหน่วย คงเหลือจ่ายงวดนี้ 0.2480 บาทต่อหน่วย ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 7 รวมจ่ายปันผลแล้วทั้งสิ้น 1.1918 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2558)
กองทุนเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ Janus Global Life Sciences Fund ชนิดหน่วยลงทุน I Share Class (Institutional Share Class) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เน้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ในการดำเนินชีวิต (Life Sciences) หรือศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาหรือยกระดับคุณภาพชีวิต ได้แก่ บริษัทด้านการวิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกี่ยวข้องสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลตัวเอง การแพทย์หรือเภสัชกรรม รวมไปถึงบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตหลักมาจากผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี การจดสิทธิบัตร หรือตลาดอื่นใดที่ได้รับประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เป็นต้น โดยทั้ง 2 กองทุนมีกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 22 ก.ย. 2564 นี้
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ สมาร์ทแพลน 3 (SCBSMART3) จ่ายปันผลในอัตรา 0.3265 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 8 รวมจ่ายปันผลแล้วทั้งสิ้น 2.0503 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2555) โดยกำหนดจ่ายให้กับผู้ถือหน่วยในวันที่ 20 ก.ย. 2564 นี้ กองทุนมีการจัดสรรสินทรัพย์โดยควบคุมมูลค่าความเสี่ยง (Value-at-Risk หรือ VaR) ให้อยู่ในกรอบที่กำหนด ประมาณ -10% ต่อปี มีนโยบายลงทุนในตราสารที่หลากหลาย อาทิ ตราสารหนี้ หุ้น เงินฝาก กองทุนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ โดยกองทุนจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไม่เกิน 34% รวมทั้งยังมีการลงทุนในต่างประเทศไม่เกิน 35% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
ทั้งนี้ กองทุนนี้จัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund Moderate Allocation ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. 2564) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว เซ็ท อินเด็กซ์ (SCBLTSETD-2020) จ่ายปันผลในอัตรา 0.2000 บาทต่อหน่วย กำหนดจ่ายให้กับผู้ถือหน่วยในวันที่ 17 ก.ย. 2564 โดยกองทุนเน้นสร้างผลตอบแทนใกลัเคียงกับดัชนี SET Index
นายอาชวิณ กล่าวถึงภาพรวมตลาดหุ้นอินเดียว่า ตั้งแต่ช่วงมี.ค. 2564 จนถึงปัจจุบันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ตลาดจะเจอแรงกดดันอยู่บ้างในช่วงเดือนเม.ย. – พ.ค. 2564 จากยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่ภายในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนรัฐบาลต้องประกาศมาตรการล็อคดาว์นกรุงนิวเดลี และเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง ซึ่งหลังจากที่สถานการณ์การระบาดในประเทศดีขึ้น ส่งผลให้ตลาดได้มีการปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดมากกว่า 20% ประกอบกับภาครัฐได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ
สำหรับในระยะถัดไปคาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดการณ์เศรษฐกิจอินเดีย (GDP) จะเติบโตสูงต่อเนื่องที่เฉลี่ย 8% ต่อปี ประกอบกับจำนวนประชากรที่สูงถึง 1.4 พันล้านคน และโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยวัยแรงงานจำนวนมาก จะเป็นตัวสนับสนุนกำลังการผลิตและการบริโภค นอกจากนี้การเน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศมูลค่า 100 ล้านล้านรูปี (1.35 ล้านล้านดอลลาร์) จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและสนับสนุนการจ้างงานได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ได้แก่ อัตราการฉีดวัคซีนที่อาจล่าช้ากว่าคาด รวมถึงระดับราคาน้ำมันที่สูงซึ่งอาจกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อาจกดดันกระแสเงินทุน
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มนี้นับว่าเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับประโยชน์หลังจากเผชิญความผันผวนอย่างหนักภายหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นการคงดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายการคลังของประเทศหลักทั่วโลกก็ยังคงเอื้อให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นทั่วโลกอาจเผชิญความผันผวนได้ในระยะสั้นจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักของโลกนำโดยสหรัฐฯ ที่อาจจะมีการลดการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบในช่วงปลายปี 2564 แต่ในระยะยาวนั้น กลุ่มเฮลธ์แคร์ก็ยังคงได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร นวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ ๆ และมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้นและความเจริญที่ขยายตัวทั่วโลก ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมได้