“ชโรเดอร์ส์” ชี้โควิดหนุนนักลงทุนอาเซียนสนใจสุขภาพการเงิน-ออมเพิ่ม

HoonSmart.com>> Schroders ผู้จัดการสินทรัพย์ระดับโลก เปิดผลสำรวจทั่วโลก ชี้นักลงทุนในอาเซียนให้ความสำคัญกับ “สุขภาพทางการเงินและการออม” มากขึ้น จากวิกฤติโควิด แนะนักลงทุนระมัดระวังการลงทุนเพิ่มขึ้น การทยอยลงทุนสม่ำเสมอ รอบคอบ หวังผลตอบแทนระยะยาวมากกว่าระยะสั้นช่วยการลงทึนได้มั่นคงขึ้น

ผลการศึกษา Schroders Global Investor Study 2021 ชี้นักลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความสำคัญกับสุขภาพทางการเงินและการออมมากขึ้น อันเป็นผลพวงอันเกิดจากวิกฤติการณ์โควิด-19

ในการศึกษาระดับโลกนี้ ทำการสำรวจความคิดเห็นนักลงทุนราว 24,000 คนใน 33 ประเทศและเขตการปกครองทั่วโลก รวมถึงสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย พบว่านักลงทุนส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการคิดเรื่องสุขภาพทางการเงิน และการจัดระเบียบการเงินส่วนบุคคคลของพวกเขาใหม่อันเนื่องมาจากโควิด-19
ทั้งนี้ นักลงทุนในประเทศไทย (91%) อินโดนีเซีย (88%) และอินเดีย (88%) ให้ความสำคัญกับการใส่ใจสุขภาพทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนนักลงทุนในมาเลเซีย (85%) และสิงคโปร์ (81%) ก็มีแนวโน้มในพฤติกรรมดังกล่าวในอันดับต้นๆ เช่นกัน

ปัจจุบันนักลงทุนทั่วโลก (86%) มีแนวโน้มที่จะตรวจสอบพอร์ตการลงทุนของตนอย่างน้อยเดือนละครั้ง เมื่อเทียบกับ 77% ในปี 2562

นอกจากนี้ มากกว่าครึ่งของนักลงทุนในอาเซียน (52%) ยังมีแนวโน้มที่จะออมเงินมากขึ้นเมื่อสถานการณ์โควิด-19 กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งโลกที่อยู่ที่ 46%

การสำรวจดังกล่าว จัดทำขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคมที่ผ่านมา* ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลายๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในระหว่างการล็อคดาวน์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหลายรอบ รวมไปถึงการฉีดวัคซีนที่เป็นไปอย่างล่าช้า ผลการสำรวจจึงสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่ระมัดระวังยิ่งขึ้นของนักลงทุนในภูมิภาค

เพิ่มความระมัดระวังในการวางแผนเกษียณและการออม

แนวทางการลงทุนอย่างระมัดระวังสะท้อนผ่านมุมมองการลงทุนเพื่อการเกษียณของนักลงทุน โดย 65% ของผู้ที่เกษียณอายุแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินมากขึ้น (เทียบกับนักลงทุนวัยเกษียณทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 58%) ในขณะที่ 75% ของผู้ที่ยังไม่ถึงวัยเกษียณต้องการเก็บออมเงินเพื่อใช้ในการเกษียณเพิ่มขึ้น (เทียบกับนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 67%)

ในช่วงปี 2564 เกือบ 1 ใน 3 (32%) ของนักลงทุนทั่วโลกสามารถเก็บออมเงินได้มากกว่าที่วางแผนไว้ ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี 26% ที่สามารถออมได้มากกว่าที่วางแผนไว้ ส่วนอีก 56% ออมเงินได้ตามแผน อันเป็นผลพวงจากการลดการจับจ่ายในสินค้าที่ไม่จำเป็น เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน การเดินทางท่องเที่ยวและพักผ่อน

สำหรับนักลงทุนที่ไม่สามารถออมได้ตามแผนนั้น พบว่า 46% ของนักลงทุนทั่วโลก (57% ในอาเซียน) ระบุว่าปัจจัยหลักมาจากเงินเดือนหรือรายได้จากการทำงานที่ลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่สุดจากภาวะโรคระบาดในครั้งนี้

ที่มาของมุมมองเชิงบวก

แม้ว่าจะเป็นปีที่มีความท้าทายอย่างมาก แต่นักลงทุนส่วนใหญ่มีความคาดหวังต่อผลตอบแทนในอนาคตที่สูงขึ้นที่สุดนับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในปี 2559 โดยนักลงทุนคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 11.3% ในช่วงเวลา 5 ปีนับจากนี้ ซึ่งสูงกว่าการสำรวจในปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดหวังที่ 10.9%


ความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นนี้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนสถาบันจากการศึกษา Institutional Investor Study ของ Schroders เช่นเดียวกัน

นักลงทุนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นกลุ่มที่มีมุมมองในแง่ดีต่อผลตอบแทนในอนาคตมากที่สุด โดยคาดหวังผลตอบแทนรวมต่อปีสูงถึง 12.8% ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ รองลงมาคือนักลงทุนในอเมริกา (12.5%) ภูมิภาคอื่นๆ ในเอเชีย (12.3%) ขณะที่นักลงทุนในยุโรปมีมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวังโดยคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ 9.7%


ทั้งนี้ นักลงทุนที่ระบุว่าตนเองเป็นนักลงทุนที่เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์สูงคาดหวังผลตอบแทน 12.8% ในขณะที่นักลงทุนที่ระบุว่าตนเองเป็นนักลงทุนมือใหม่หรือเพิ่งเริ่มต้นลงทุนคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำลงมาที่ระดับ 8.9%

นักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังให้ความสนใจมากขึ้นกับโอกาสการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลก โดยในปีที่ผ่านมา นักลงทุน 63% ลงทุนในหุ้นและกองทุนที่ลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี ขณะที่ 55% ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยก็ได้รับความสนใจเช่นกัน โดย 60% ของนักลงทุนในภูมิภาคนี้ลงทุนในทองคำ เงิน และโลหะมีค่า

สจ๊วต พอดมอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมการลงทุนจาก Schroders ให้ความเห็นว่า “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนรู้สึกไม่มั่นคงและไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆได้เหมือนที่ผ่านมา ส่งผลต่อการที่นักลงทุนให้ความสำคัญกับการออมเพิ่มขึ้น มีการติดตามพอร์ทการลงทุนของตัวเองบ่อยขึ้น ดังจะเห็นได้จากผลการศึกษาของเรา”

“แม้ว่าจะเป็นความท้าทายอันใหญ่หลวงที่เราทุกคนต้องเผชิญ แต่ในอีกมุมหนึ่งการแพร่ระบาดครั้งนี้ก็ช่วยเร่งการส่งเสริมการให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินและสุขภาพทางการเงิน ในขณะเดียวกัน จำเป็นที่จะต้องมีความระมัดระวังในการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนหลายคนมีมุมมองต่อผลตอบแทนที่คาดหวังในอนาคตสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนที่มองว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญนั้น มองโลกในแง่ดีเป็นพิเศษ

“ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมาได้สอนเราว่าอนาคตเป็นสิ่งที่ยังยากต่อการคาดเดา การทยอยลงทุนแบบสม่ำเสมอ รอบคอบไม่ใจร้อน ให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์การลงทุนในระยะยาวมากกว่าผลตอบแทนระยะสั้น มีแนวโน้มที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างมั่นคงมากขึ้น”