HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ ดาวโจนส์ร่วง 271 จุด เงินเฟ้อเดือนส.ค. พุ่ง 8.3% เมื่อเทียบงวดปีก่อน สูงสุดในรอบ 11 ปี เทียบรายเดือนเพิ่มขึ้น 0.7% สูงกว่านักวิเคราะห์คาด นักลงทุนกังวลเฟดเลิกใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย จับตาประชุม 21-22 ก.ย.นี้ ด้านตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปิดลบ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 10 กันยายน 2564 ปิดที่ 34,607.72 จุด ลดลง 271.66 จุด หรือ 0.78% จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งจากการลดลง 3.3% ของหุ้นแอปเปิล
ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,458.58 จุด ลดลง 34.70 จุด, -0.77%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่15,115.49 จุด ลดลง 132.76 จุด, -0.87%
ในสัปดาห์นี้ดัชนี Dow ลดลง 2.2% ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่สอง ส่วน ดัชนี S&P 500 ลดลง 1.7% และดัชนี Nasdaq ลดลง1.6%
นักลงทุนกังวลว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จะทำให้ธนาคารกลาง (เฟด) จะเลิกใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย
แจ๊ค แอบลิน ผู้ก่อตั้ง Cresset Capital Manageme วิเคราะห์จาก ว่า การระบาดของไวรัสเดลตามีผลต่อตลาดในสัปดาห์นี้ ขณะที่นักลงทุนแม้จะเห็นว่าเศรษฐกิจเติบโตแต่ก็กังวลต่อเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
กระทรวงแรงงานรายงาน ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนสิงหาคมเมื่อเทียบรายปีเพิ่มขึ้น 8.3% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2010 และเมื่อเทียบรายเดือน เพิ่มขึ้น 0.7% สูงกว่า 0.6% ที่นักวิเคราะห์คาด
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบรายปี สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2014 และเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน
นักลงทุนจับตาการรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันอังคาร รวมทั้งจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 21-22 กันยายนนี้ เพื่อรอความชัดเจนการลดการซื้อพันธบัตรรายเดือนจาก 120 พันล้านดอลลาร์
มาร์ค เฮเฟเล นักวิเคราะห์จาก UBS Global Wealth Management ระบุว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินจะมีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและจะไม่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดหุ้น และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกที่แตกต่างกันซึ่งมีทั้งเข้มงวดและผ่อนปรนจะเป็นโอกาส
นอกจากนี้ยังคาดว่า ธนาคารกลางประเทศหลักจะยังคงสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำอีกนาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาด โดยเฉพาะกลุ่มวัฎจักรและกลุ่ม value
ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง นำโดยกลุ่มสาธารณูปโภคที่ลดลง 1.2% นักลงทุนยังขานรับ
มติประชุมของธนาคารกลางสหภาพยุโรป ( European Central Bank:ECB) ที่ส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่ร้อนแรง และอาจจะปรับคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลางขึ้น
ในเยอรมนี ดัชนี CPI เดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบรายปี
ในอังกฤษเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เพราะการระบาดของไวรัสเดลตามีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หลังยกเลิกล็อกดาวน์
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 466.34 จุด ลดลง 1.23 จุด, -0.26%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,029.20 จุด เพิ่มขึ้น 4.99 จุด, +0.07%
ดัชนี CAC 40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,663.77 จุด ลดลง 20.95 จุด, -0.31%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,609.81 จุด ลดลง 13.34 จุด, -0.09%
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น 1.58 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 69.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น 1.47 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 72.92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล