5 ตัวใหญ่กดดัชนีร่วง 7 จุด ตลท.เดินหน้าดับหุ้นผิดปกติ

HoonSmart.com>>ตลาดหุ้นต่างประเทศส่วนใหญ่รวมถึงไทยปรับตัวลง รอผลประชุมธนาคารกลางยุโรป ลด-ไม่ลดอัดฉีดสภาพคล่อง ดัชนีร่วงลง 11.33 จุด กระจุกตัวในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีฟรีโฟลทต่ำ DELTA-AOT-INTUCH-MAKRO-ADVANC มีแรงซื้อแบงก์พยุงตลาด นำโดย BAY สภาพคล่องน้อย ราคาวิ่งฉิ่วเฉียด 6% บล.ทรีนี้ตี้เทียบ “เดลต้าฯ-แมคโครฯ” ที่ขึ้นมาในเดือนก.ย.มีผลต่อดัชนี 31 จุด “ภากร” เผยตลาดหลักทรัพย์กำลังหามาตรการใหม่ดูแลหุ้นผิดปกติ

วันที่ 9 ก.ย. 2564 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 1,629.12 จุด ลดลง 11.33 จุดหรือ -0.69% ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาตา 91,098.61ล้านบาท แรงขายจากนักลงทุนต่างประเทศออกมากว่า 2,369.54 ล้านบาท ส่วนสถาบันไทยซื้อ 1,829.55 ล้านบาท และนักลงทุนไทยซื้อสุทธิ 1,088.77 ล้านบาท ด้านค่าเงินบาทปิดที่ 32.71 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากการซื้อขายภาคเช้า ทั้งนี้ หุ้นบุริมสิทธิ์ บริษัทยู ซิตี้ (U-P) มีการซื้อขายบิ๊กล็อตจำนวน 500 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 1.19 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวม 595 ล้านบาท

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตามต่างประเทศหลายแห่ง จากนักลงทุนชะลอการลงทุน เพื่อรอดูผลประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) คืนวันที่ 9 ก.ย. ตามเวลาประเทศไทย พิจารณาเรื่องนโยบายการเงินในการลดการอัดฉีดสภาพคล่องกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน หุ้นไทยมีการขายหุ้นขนาดใหญ่ที่ปรับตัวขึ้นมาหลายวัน

บล.ไทยพาณิชย์ รายงานหุ้นที่ราคาปรับตัวขึ้น-ลงมีผลต่อดัชนี พบว่า DELTA ปิดที่ 744 บาท ติดลบ 24 บาทหรือ 3.12% ทำให้ดัชนีปรับตัวลงถึง 2.60 จุด ตามด้วย AOT มีผลต่อดัชนี-1.86 จุด INTUCH -1.39 จุด MAKRO -1.15 จุด ADVANC -0.77  จุด รวม 5 ตัวทำให้ดัชนีปรับตัวลง 7.77 จุด ขณะเดียวกัน BAY ปรับตัวขึ้นแรง 5.74% มีผลต่อดัชนี +1.12 จุด รวมถึงแบงก์อื่น ๆ เช่น KBANK +0.51 จุดและ LHFG ทำให้หุ้นขึ้น 0.48 จุด หลังจากราคาปรับตัวขึ้นแรง 21.14% ปิดที่ 1.49 บาท ปัจจัยบวกธนาคารใหญ่ที่สุดในไต้หวัน CTBC Bank ซื้อหุ้นต่อจาก 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 10.99% ทำให้มีหุ้นทั้งหมด 46.61% ส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว

บล.ทรีนีตี้มีการเปรียบเทียบดัชนีหุ้น (SET) กับดัชนีหุ้นที่ไม่รวมราคาหุ้น DELTA-MAKRO ในเดือนก.ย.พบว่ามีส่วนแตกต่างกันถึง 31.10 จุด ณ วันที่ 8 ก.ย. SET อยู่ที่ระดับ 1,640.45 จุด หากไม่รวมหุ้นทั้งสองบริษัท ดัชนีอยู่ที่ 1,609.35 จุด

ด้าน นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตอบข้อซักถามกรณีหุ้นฟรีโฟลทต่ำร้อนแรงว่า ตลาดหลักทรัพย์กำลังหามาตรการใหม่ ในการดูแลหุ้นที่ราคาเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน ต้องผ่านเฮียริ่งผู้เกี่ยวข้องด้วย

ส่วนสถานการณ์การลงทุนในช่วงนี้ นายภากรกล่าวว่า เป็นช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก บางตลาดผันผวนมาก ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางต่างๆ ลดการอัดฉีดสภาพคล่องลง เป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวดีแล้ว และอัตราดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้น แต่ก็อยากจะฝากให้ติดตามสิ่งที่จะเกิดขึ้น ทำให้เงินทุนหมุนเวียนไหลออกไปข้ามสินทรัพย์ ส่วนเศรษฐกิจไทย ภาคธุรกิจบริการจะดีขึ้นหากมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น

นายภากรกล่าวว่า  การเปิดบัญชีใหม่ในปี 2564 มีจำนวน 1.1 ล้านบัญชี มากกว่าปีก่อนที่มีจำนวน 8 แสนบัญชี และปกติที่มีปีละ 3-4 แสนบัญชี เพราะการเปิดบัญชีใหม่ทำได้ง่ายขึ้น มีหุ้นใหม่ให้นักลงทุนใหม่ และภาวะดอกเบี้ยต่ำ ขณะเดียวกันมีการให้ความรู้เรื่องการลงทุนในวงกว้าง ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้นักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาเปิดบัญชี มากกว่า 50% เป็น Gen Y อายุไม่มากนับเป็นแนวโน้มที่ดี และลงทุนในหุ้นพื้นฐาน ส่วนความสำเร็จของการลงทุนสำหรับนักลงทุนใหม่ จะต้องมองผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาว

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ดัชนีหุ้น ณ สิ้นเดือน ส.ค. ปิดที่ 1,638.75 จุด เพิ่มขึ้น 7.7% จากสิ้นเดือนก.ค. และช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 13.1% ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มบริการ

” เดือนส.ค. เป็นเดือนแรกที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยและยังเห็นสัญญาณเงินทุนเคลื่อนย้ายกลับไปยังสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งในภูมิภาค ASEAN ส่งผลให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าอยู่ที่ 32.34 บาทต่อดอลลาร์”นายศรพลกล่าว

ทั้งนี้ในเดือนส.ค.ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 5,584 ล้านบาท  แต่รวม 8 เดือนขายสุทธิรวม 89,975 ล้านบาท ในเดือน ส.ค.64 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 1 บริษัท และ 1 ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยใน 8 เดือนแรกปี 64 SET มีมูลค่าระดมทุน (IPO) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ใน ASEAN