NOK ชงบอร์ดก.ย. ไฟเขียวแผนธุรกิจระยะยาว

นกแอร์ดิ้นแก้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ มี 2 แนวทาง เพิ่มทุน หรือ เร่งทำกำไร เตรียมเสนอบอร์ดก.ย. อนุมัติแผนธุรกิจระยะยาว ขยายรายได้ต่างประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ยันผลประกอบการปีนี้ดีกว่าปีก่อน

บริษัท สายการบินนกแอร์(NOK) จัดการประชุมเพื่อให้ข้อมูลแก่นักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานตามเกณฑ์เครื่องหมาย “C”

นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสายการบินนกแอร์ (NOK) กล่าวว่า ในหลักการแนวทางที่จะสามารถปลดเครื่องหมาย “C” ออกไปได้ บริษัทต้องทำกำไร หรือเพิ่มทุน เพื่อเพิ่มส่วนผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2561 NOK มีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 406 ล้านบาท และขาดทุนสะสมอยู่ 6,196 ล้านบาท

นายปิยะกล่าวว่า ฝ่ายบริหารบริษัทเตรียมนำเสนอแผนธุรกิจระยะยาวที่จะทำให้บริษัทพลิกฟื้นกลับมาเติบโตในระยะยาวให้กับคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด)ในเดือน ก.ย.นี้ หลังจากที่มีสัญญาณที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก คาดว่าผลงานเฉพาะงบเดี่ยวปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้ว แม้ยังมีความกังวลต่ออัตราแลกเปลี่ยนและทิศทางราคาน้ำมันก็ตาม

“แผนธุรกิจนี้จะช่วยให้เติบโตในระยะยาว เราจะไม่เปลี่ยนแผนจากที่เราทำ แต่จะทำให้ดีขึ้น จะต้องมี BIG Change ในงวดครึ่งปีแรกเห็นแล้วว่าผลประกอบการดีขึ้น สิ่งที่ทำคือหยุดเลือด แล้วค่อยไปแบบ S Curve”นายปิยะ กล่าว

ทั้งนี้ NOK รายงานผลงานงบเดี่ยวในงวดครึ่งปีแรก ขาดทุนสุทธิ 774 ล้านบาท ลดลงจากที่ขาดทุนสุทธิ 909 ล้านบาท ส่วนผลงานรวม NOK มีผลขาดทุนสุทธิติดต่อกัน 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2557

นายปิยะ กล่าวว่า บริษัทได้ตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารเป็น 10 ล้านคนในปีนี้ จากปีก่อนมีจำนวนผู้โดยสาร 8.78 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.22 ล้านคน เติบโต 14% โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีจำนวน 4.72 ล้านคน เติบโต 7.2% ด้านอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ตั้งเป้าปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 92% จากงวดครึ่งปีแรกเฉลี่ยที่ 91.22% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เฉลี่ย 84.81%

“ตัวเลข Cabin Factor แตะระดับ 90% ถือเป็น High record ตั้งแต่นกแอร์ก่อตั้ง ยังไม่เคยทำได้ระดับ 90%”นายปิยะ กล่าว

นอกจากนี้ อัตราการใช้เครื่องบินในงวดครึ่งปีแรกก็ดีขึ้นเป็น 9.76 ชั่วโมง (ชม.)/ลำ/วัน จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 7.89 ชม./ลำ/วัน และในปีนี้ตั้งเป้าหมายที่ 11 ชม./ลำ/วัน แต่รายได้ผู้โดยสารต่อกิโลเมตร (Passenger Yield) อยู่ที่ 1.91% ลดลงจากระดับ 1.96% ในงวดเดียวกันของปีก่อน เพราะมีการแข่งขันราคากันสูงมาก

สำหรับผลประกอบการในปีนี้ควรจะดีกว่าปีก่อน หากราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในระดับนี้ และอัตราแลกเปลี่ยนไม่ผันผวนมาก โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/2561 ราคาน้ำมันอากาศยานอยู่ที่ 83.30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 31.10% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่บริษัทได้จัดซื้อน้ำมันร่วมกับบริษัทการบินไทย (THAI) รวมทั้งการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้มากกว่า 50%

ส่วนเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐสูงขึ้น โดย 75% ของค่าใช้จ่ายบริษัทเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ น้ำมัน ค่าเช่าเครื่องบินและค่าซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบิน

ทางด้านผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรก มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 2.6% มาที่ 7,670 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียง 0.72% ผลกระทบจากราคาน้ำมัน ทำให้ขาดทุน 774.68 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 909 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทได้ลดต้นทุน ได้แก่ การปลดเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ออก 4 ลำ เหลืออยู่ 26 ลำ แต่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร(ASK) 13.22% โดยบริษัทเพิ่มความถี่ทำการบินมากขึ้น โดยจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 3.61%

ส่วนในไตรมาส 3 ผลประกอบการคงยังไม่ค่อยดีนัก เพราะเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว และได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอการเดินทางเข้ามา โดยเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากจีนลดลงเหลือ 2 เที่ยวบิน/วัน จากเดิมมี 8 เที่ยวบิน /วัน และเส้นทางบินประจำยังคงอยู่ที่ 10 เที่ยวบิน/วัน หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอาจปรับลดลงมาอีก แต่เชื่อว่าผลประกอบการจะกลับมาดีขึ้นมากในไตรมาส 4/61 เพราะเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว

ขณะเดียวกัน บริษัทพยายามกระจายความเสี่ยง เพิ่มเส้นทางต่างประเทศให้มากขึ้น โดยในวันที่ 15 ต.ค.นี้มีแผนเปิดเส้นทางบินใหม่ไปอินเดีย 2 เมือง และปีหน้าจะเปิดเพิ่ม หลังจากรับมอบเครื่องบินใหม่อีก 2 ลำเป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ โบอิ้ง 737-MAX รับมอบในเดือน ต.ค. และ ธ.ค. เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ในเส้นทางต่างประเทศเป็น 40% จากปัจจุบัน 30% ขณะที่สัดส่วนรายได้ในประเทศปัจจุบัน อยู่ที่ 70% จะลดลงมาที่ 60%

ส่วนสายการบินนกสกู๊ด ที่ NOK ถือหุ้นอยู่ 49% นั้นมีกำไร 47 ล้านบาทในปี 2560 และ 37 ล้านบาทในไตรมาส 1/2561 แต่ไตรมาส 2 ขาดทุน 355 ล้านบาท หลังได้รับผลกระทบจากยอดนักท่องเที่ยวจีน แต่นกสกู๊ดก็มีแผนเพิ่มเส้นทางบินใหม่เพิ่มอีก