KKP แนะปรับตัว” เป็นฐานผลิตชิป-ปรับเกณฑ์หนุนลงทุน”รับสงครามเทคโนโลยี”

HoonSmart.com>>KKP Research แนะกลยุทธ์ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้ไทยเป็นฐานผลิตชิปและ ปรับบทบาทกำหนดนโยบาย รองรับความขัดแย้งทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯและจีน

KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)” วิเคราะห์ว่าการแข่งขันและความขัดแย้งทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯและจีน จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและกำหนดว่าใครจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในทศวรรษข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันศูนย์กลางของความขัดแย้งในครั้งนี้อยู่ที่เทคโนโลยีสำคัญ 3 ชนิด ได้แก่

เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยี Cyber security เพราะ 1) เซมิคอนดักเตอร์มีความสำคัญต่อทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 2) เซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีในการสื่อสารยังเป็นเหมือนกับมันสมองที่สำคัญอย่างยิ่งต่อเทคโนโลยีทางการทหาร 3) การโจมตีทางด้านไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่ออุตสาหกรรมที่สำคัญ จะให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์นั้นกระจุกตัวอยู่แค่ใน 6 แหล่งเท่านั้น ได้แก่สหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการผลิตชิปไฮเอนด์ระดับต่ำกว่า 10 นาโนเมตร ที่กำลังการผลิตทั้งโลกกระจุกอยู่ในไต้หวันถึง 92% และเกาหลีใต้ 8% สหรัฐฯ และจีนจำเป็นจะต้องมีนโยบายที่มุ่งเน้นไปยังการสร้างความมั่นคงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

ด้านเทคโนโลยี 5G จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในด้าน 5G ทั้งในด้านอุปกรณ์และในด้านการกำหนดมาตรฐานของ 5G ด้วยเหตุที่ Huawei ครอบครองสัดส่วนตลาดสูงสุด แต่หลายประเทศมีความกังวลในเรื่องภัยสอดแนมและปัญหาความปลอดภัยข้อมูลจากอุปกรณ์ของ Huawei ในอนาคตความปลอดภัยไซเบอร์จะมีความสำคัญมากขึ้น อาจเพิ่มแรงกดดันที่ทำให้มาตรฐานของเทคโนโลยีแยกออกเป็นสองค่าย นั่นคือค่ายสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร และอีกฝั่งก็คือค่ายจีน หากมาตรฐานของเทคโนโลยีหรือโลกของอินเตอร์เน็ตถูกตัดขาดหรือแยกออกเป็นสองค่ายจริง ๆ อาจทำให้ต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลเพิ่มสูงขึ้น ในกรณีนี้ ประเทศไทยอาจถูกบังคับให้ต่องเลือกค่ายและต้องรับต้นทุนในการติดต่อสื่อสารรวมไปถึงต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูลทีเพิ่มสูงขึ้น

KKP Research มองว่าการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯกับจีน รวมไปถึงความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ อาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
1) ความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทานของการผลิตและราคาสินค้า
2) ความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ ภาวะขาดแคลนชิปจะส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการผลิตรถยนต์

3) ความเสี่ยงต่อการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ การแข่งกันด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐ ฯ และจีนจะทวีความรุนแรงขึ้น หากประเทศไทยไม่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิตแบบใหม่และไม่ให้ความสำคัญในการป้องกันข้อมูลและลดความเสี่ยงจากการโจมตีทางด้านไซเบอร์ อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยและตำแหน่งของไทยในห่วงโซ่อุปทานโลกถดถอยอย่างต่อเนื่อง

เพื่อที่จะลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่าการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้ไทยเป็นฐานการผลิตชิปเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะมีส่วนช่วยในการลดผลกระทบจากความเสี่ยง แต่ไทยยังมีอุปสรรค 2 ข้อคือ 1) คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์และความสามารถในการดึงดูดผู้เปี่ยมศักยภาพ (Talent) ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ 2) จุดอ่อนของไทยในด้านกฎหมายธุรกิจและการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ภาครัฐควรให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาใน 2 ด้านนี้หากต้องการดึงดูดการลงทุนในด้านเซมิคอนดักเตอร์

นอกจากนี้ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายดังนี้
1) ส่งเสริมและพัฒนาทักษะแรงงานให้เพื่อปรับตัวให้พร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ
2) ลงทุนเพื่อพัฒนา soft infrastructure ได้แก่ ระบบฐานข้อมูล และ High-speed broadband
3) ลดกฎระเบียบที่ยุ่งยากและเพิ่มความชัดเจนของนโยบายทางภาษีและนโยบายส่งเสริมการลงทุน
4) ลงทุนในการเสริมความแข็งแกร่งในด้าน Cyber security และ data protection ทั้งในกิจกรรมของภาครัฐและภาคเอกชน

ติดตามข่าว หุ้นเด่นระหว่างวัน ผ่านช่องทาง Line OpenChat : https://line.me/ti/g2/wEbsUcMaP2oP45XhK3vYhQ