KTC รับโควิดกระทบธุรกิจ ”สินเชื่อบุคคล-เคทีซี พี่เบิ้ม”

HoonSmart.com>>เคทีซี รับโควิดกระทบ ”สินเชื่อบุคคล- เคทีซี พี่เบิ้ม” กัดฟันคงเป้าโต แม้ 7 เดือนลูกค้าใหม่ลดกว่า 30% ยันดูแลหนี้ NPL ไม่เกิน 3% รุกอัพเกรดผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ พร้อมบัตรกดเงิน เคทีซีพี่เบิ้ม” ครั้งแรกในไทย หนุนสมาชิกฝ่าความท้าทายโควิด

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยาวนานเกือบสองปี การทำธุรกิจสินเชื่อบุคคลในปี 2564 มีความท้าทายมากขึ้น แต่เคทีซีมุ่งรักษาคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ จึงปรับเกณฑ์การอนุมัติให้รัดกุมขึ้น ทำให้ครึ่งปีแรกยอดลูกหนี้ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล สิ้นเดือนมิ.ย.64 อยู่ที่ 29,480 ล้านบาท ลดลง 2.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวนสมาชิก 802,971 บัญชี สัดส่วนการตลาดอยู่ที่ 4.6% และ NPL เท่ากับ 3.0% (อุตสาหกรรม 3.5%) และคาดว่าสิ้นปีนี้จะรักษาพอร์ตลูกหนี้ได้ใกล้เคียงกับปีก่อน

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในช่วง 7 เดือนแรกของปี มีลูกค้าใหม่ประมาณ 30,000 ราย ลดลงกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนี้NPL ของสินเชื่อส่วนบุคคลบริษัทยังมีเป้าหมายจะดูแลไม่เกิน 3% ซึ่งต่ำกว่าอุตสาหกรรมที่ 3.5%

ส่วนครึ่งปีหลัง ยังต้องจับตาดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด โดยเน้น 4 เป้าหมายหลักคือ 1) การมุ่งช่วยเหลือสมาชิกสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสม 2) แบ่งเบาสมาชิกด้วยโครงการเคลียร์หนี้เกลี้ยง 3) มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยพัฒนาการโอนเงินออนไลน์ผ่านแอปฯ “KTC Mobile” ไปยัง 13 ธนาคารแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งสามารถนำบัตรกดเงินสดไปใช้งานได้ทั้ง 4 ฟังก์ชัน “รูด โอน กด ผ่อน” 4) ขยายฐานสมาชิกสินเชื่อรายใหม่ โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนสมาชิกสินเชื่อ “เคทีซี พราว” ไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีฐานรายได้สูงขึ้นและต้องการใช้เงินก้อนใหญ่ ด้วยแคมเปญแบ่งเบาภาระ ลดดอกเบี้ยเหลือเพียง 0.93% ผ่อนได้นานถึง 36 เดือน

และล่าสุดได้อัพเกรดผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ พร้อมบัตรกดเงิน เคทีซี พี่เบิ้ม” ครบฟังก์ชันรูด-โอน-กด เป็นครั้งแรกของวงการสินเชื่อไทยที่มีการออกผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ เพื่อให้คนไทยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้มีเงินทุนหมุนเวียนในการต่อยอดใช้จ่ายสิ่งจำเป็น เหมาะสำหรับผู้มีรถมอเตอร์ไซค์และมีเล่มทะเบียนเป็นชื่อตนเอง

นางสาวเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการ-ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อในช่วง 7 เดือนแรกของ KTC พี่เบิ้มยังไม่ถึง 500 ล้านบาท หรือไม่ถึง 50% ของเป้าหมาย 1,000 ล้านบาท เป็นผลจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด ทำให้การทำตลาดของ KTC พี่เบิ้มเพื่อให้ลูกค้ารับรู้แบรนด์ยังทำได้ไม่เต็มที่ แต่ยังคงตั้งเป้าเติบโตสิ้นปีนี้ที่ 1,000 ล้านบาท ส่วนการรวมกิจการกับกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง (KTBL) ยังอยู่ในช่วงการเริ่มต้น คาดว่าจะมีความชัดเจนตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นไป

“สำหรับครึ่งปีหลัง คาดว่าการทำธุรกิจจะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยจะเน้นผ่าน 4 กลยุทธ์หลักคือ 1) ขยายขอบเขตพอร์ตผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้มีความหลากหลายครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากขึ้น จากการมีกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง (KTBL) เข้ามาเสริมทัพ ทำให้เราสามารถนำเสนอสินเชื่อทะเบียนรถแบบโอนเล่ม การทำรีไฟแนนซ์สินเชื่อทะเบียนรถ และการทำสินเชื่อรถยนต์มือสอง ซึ่งจะเริ่มในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ 2) การเซ็นสัญญาแบบดิจิทัล โดยตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 ที่ผ่านมา “เคทีซี พี่เบิ้ม” ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำสัญญาเป็นแบบดิจิทัล ลดขั้นตอนการสมัครอยู่ที่ประมาณ 1.5 ชั่วโมง

3) ขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีนี้ โดยไปกับสาขาของธนาคารกรุงไทยทุกภูมิภาค และผนึกกำลังเข้ากับสาขาเครือข่ายของ KTBL 4) ทำให้จุดแข็งของเคทีซี พี่เบิ้ม เป็นที่รู้จักและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ผ่าน 4 จุดแข็ง วงเงินใหญ่ อนุมัติใน 2 ชั่วโมง และรับเงินทันที รับสมัครสมาชิกไม่จำกัดอาชีพ และบริการพี่เบิ้ม เดลิเวอรี่ (P Berm Delivery) อนุมัติสินเชื่อถึงที่ ไม่มีวันหยุด ซึ่งเป็นจุดขายที่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น”

นางสาวพิชามนกล่าวเพิ่มเติมถึงการช่วยเหลือสมาชิกจากโควิด-19 ว่า “เคทีซีได้นำเสนอแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสมกับความหลากหลายของสมาชิก และสอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อการก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน โดยมีกลุ่มลูกหนี้ทุกผลิตภัณฑ์เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือกับเคทีซี วันที่ 30 มิถุนายน 2564 รวม 21,564 บัญชี ด้วยยอดหนี้คงค้างชำระที่ 1,545 ล้านบาท และมีสมาชิกทุกผลิตภัณฑ์ขอพักชำระหนี้ 2 เดือน รวม 13,370 ราย วันที่ 15 สิงหาคม 2564”

ติดตามข่าว หุ้นเด่นระหว่างวัน ผ่านช่องทาง Line OpenChat : https://line.me/ti/g2/wEbsUcMaP2oP45XhK3vYhQ