MFC : “Key Takeaways from Jackson Hole”

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่หลังถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ในการประชุมที่แจ็คสัน โฮล โดยเรามีมุมมองต่อถ้อยแถลงในครั้งนี้อยู่ 3 ประเด็น ดังนี้

1) เฟดจะลดการอัดฉีดสภาพคล่อง QE Tapering ภายในปีนี้ โดยตลาดคาดว่าเฟดจะทำการประกาศอย่างเป็นทางการในการประชุม FOMC เดือน ก.ย. และเริ่มทำจริงในช่วงปลายปีหรือเดือน ม.ค. ปีหน้า

2) ตลาดคาดว่าเฟดจะค่อย ๆ ทยอยลด QE ลงทุกเดือน โดยอัตราการลด QE จะอยู่ที่ประมาณ 10,000-15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน จากปัจจุบันที่เข้าซื้อสินทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน ซึ่งหากคิดที่อัตรา 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือนจะใช้ระยะเวลาในการทำ QE Tapering ทั้งหมดราว 8 เดือน

3) การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดน่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งเฟดจะพิจารณาแยกกันกับการลด QE โดยหากทำ QE Tapering จบแล้ว แต่การจ้างงานของสหรัฐฯ ยังไม่กลับมาที่ระดับเดียวกันกับตอนก่อนเกิดวิกฤต โควิด (Full Employment) ก็จะยังไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย

ท่ามกลางการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เราเริ่มเห็นความเสี่ยงของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันสหรัฐฯมีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แตะระดับ 100,000 คนอีกครั้ง ถือเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนปรับตัวลดลงทำระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการปรับประมาณการกำไรของดัชนี S&P500 ในไตรมาส 3 และทำให้ตลาดมีโอกาสการปรับฐานลงจาก Valuation ที่ตึงตัว (Forward P/E 21 เท่า) เราแนะนำให้เน้นลงทุนในหุ้นเติบโตคุณภาพดี (Quality Growth Stock) ที่มีกำไรสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ลงทุนหุ้นยุโรปที่มี Valuation ถูกกว่าหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงธนาคารกลางยุโรปก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดขนาด QE เหมือนกับกรณีของเฟด