SCBAM : “Fed ส่งสัญญาณการทำ QE Taper ในปีนี้ แต่ยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย”

ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้การแพร่ระบาด COVID-19 กลับมาเร่งตัวขึ้นทั่วโลกจากสายพันธุ์ Delta ทำให้หลายประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง อย่างไรก็ดีตัวเลขผู้เสียชีวิตและอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (Hospitalizations) ยังคงอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนประสิทธิภาพทางการแพทย์และการฉีดวัคซีนที่รวดเร็ว โดยล่าสุดสหรัฐฯ และยุโรปมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนถึง 60.55% และ 53.06% ของจำนวนประชากรทั้งหมดตามลำดับ

ดัชนี Composite PMI เบื้องต้นเดือน ส.ค. ของประเทศหลักส่วนใหญ่ชะลอตัวลง ดัชนี PMI เบื้องต้นเดือน ส.ค. มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัญหาเรื่อง Supply disruptions อาทิ การขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ยังไม่คลี่คลาย อีกทั้งยังเผชิญการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta ที่ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอีกครั้งทั่วโลก

Fed ส่งสัญญาณการทำ QE Taper ในปีนี้ แต่ยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากการประชุม Jackson Hole Symposium ทำให้ประเมินว่า Fed อาจส่งสัญญาณถึงการลด QE อีกครั้งในเดือน ก.ย. โดยจะเริ่มต้นลดจริงในเดือน พ.ย. ซึ่งขนาดของการลดคาดว่าจะอยู่ที่ 1.5-2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อครั้ง เป็นระยะเวลา 6-8 เดือน หมายความว่า QE Tapering จะสิ้นสุดลงในช่วงไตรมาส 3 ของปีหน้า จากนั้น Fed อาจใช้เวลาดูผลกระทบอีกอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนจะเริ่มพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

สมาชิกสภาผู้แทนฯ มีมติเห็นชอบแผนกระตุ้นเศรษฐกิจนาดใหญ่ วงเงิน 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยวงเงินดังกล่าวจะนำไปใช้กับมาตรการด้านสังคมและการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะถูกจ่ายผ่านการปรับขึ้นภาษีภาคธุรกิจและผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก นอกจากนี้จะมีการโหวตแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 5.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในวันที่ 27 ก.ย. นี้

จำนวนผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด COIVD-19 โดยจำนวนผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless claims) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.0 พันราย เป็น 3.53 แสนราย ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ส.ค. สูงกว่าตลาดคาดเล็กน้อยที่ 3.50 แสนราย อย่างไรก็ดี นับว่าเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด COIVD-19

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินและการคลัง เป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะนี้ ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ขณะที่ครม. มีมติอนุมัติขยายการลด VAT ไว้ที่อัตรา 7% ไปจนถึง 30 ก.ย. 2566 และเห็นชอบโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากวงเงินรวม 9,757.87 ล้านบาท