HoonSmart.com>> “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด ส่งสัญญาณประชุม Jackson Hole เริ่มลดวงเงิน QE ภายในปีนี้ ส่วนดอกเบี้ยนโยบายยังไม่เร่งปรับขึ้น “บล.โนมูระ พัฒนสิน” ประเมินยังไม่เป็นผลลบต่อหุ้นสหรัฐ แนะจับตาความเสี่ยงเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่
บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน (CNS) สรุปประเด็น เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวใน Jackson Hole Symposium ว่า การปรับลดวงเงิน ซื้อพันธบัตร (QE Tapering) จะเริ่มขึ้นในปีนี้ นั่นหมายความว่าช้าสุด น่าจะประกาศ QE Tapering ในการประชุมเดือน พ.ย.2564 เพื่อให้มีผลเริ่มลดวงเงิน QE เดือน ธ.ค.ปีนี้ ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบ
บล.โนมูระ พัฒนสิน มองประเด็นนี้จะยังไม่เป็นลบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ (US Equity Market) เนื่องจากเป็นการดึงสภาพคล่องกลับ แต่ถ้าเกิดกรณีเศรษฐกิจสหรัฐฯ แผ่วลง ในจุดที่สภาพคล่องเริ่มลดลง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเริ่มปรับฐาน
ในกรณีตลาดเกิดใหม่ (EM) ประเด็นการเริ่มต้น QE Tapering ถือเป็นความเสี่ยงเชิงลบต่อสภาพคล่องที่เสี่ยงไหลกลับ (Ouflow) ทั้งในส่วนของตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น
โดย EM เผชิญความเสี่ยง 1) เศรษฐกิจที่ชะลอลงจากคู่ค้าหลักอย่างจีน และปัญหาโควิก-19 กดดันเศรษฐกิจภายใน 2) ความเสี่ยงต่อดุลบัญชีเดินสะพัดที่แย่ลง ขณะที่สถานะคงค้างของ Portfolio investment liability (PI) ยังสูงใกล้เคียงปี 2556 หรือมากกว่าในบางประเทศ และ 3) เผชิญสัดส่วนหนี้ภาครัฐที่สูง ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ถือครองหลัก พันธบัตรรัฐบาล ทำให้รัฐบาล ต้องพยายามประคองโอบอุ้มธนาคาร(คล้าย EU Debt Crisis 2554)
อย่างไรก็ดีประเทศไทย ไม่ได้อยู่ 1 ใน 10 Trouble Ten ที่ Nomura คาดว่าจะมีความเสี่ยง 3 ประเด็นนี้สูง ทำให้ผลกระทบของไทยน่าจะมีจำกัดกว่า
แต่ความเสี่ยงด้าน Relative เป็นอะไรที่ต้องเตรียมตัว เนื่องจากประเทศในกลุ่ม TIPs อย่าง อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ถูกรวมในกลุ่มเสี่ยงของ Trouble Ten
บล.โนมูระ พัฒนสิน แนะนำให้จับตาการประเมินความเสี่ยงของเงินไหลออกจาก Pl ไทย ในช่วงถัดไป
ด้านฝ่ายวิจัยบล.เอเซีย พลัส (ASPS) เผยการแถลงของประธานเฟด เป็นไปตามที่ตลาดคาด คือ การปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรประกาศชัดว่าเตรียมเริ่มก่อนสิ้นปี 2564 แต่ไม่ได้เผยชัดเจนว่าจะลดวงเงินต่อเดือนลงรอบไหน จากปัจจุบันเฟดกำหนด QE ไว้เดือนละ 1.2 แสนล้านเหรียญต่อเดือน
ASPS คาดว่าจะเกิดในการประชุมเฟดที่เหลือของปีนี้อีก 3 ครั้ง คือ 21-22 ก.ย., 2-3 พ.ย. , 14-15 ธ.ค. เป็นประเด็นต้องติดตาม ส่วนมุมมองในตลาด Goldman Sachs คาดเฟดจะประกาศในรอบ พ.ย.64 มีโอกาสมากที่สุด และน่าจะลดวงเงิน QE ต่อเดือนลงจากเดิมราว 1.5 หมื่นล้านเหรียญ
ส่วนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐประธานเฟดย้ำการปรับลด QE ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณโดยตรงถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย
ASPS ประเมินรอบนี้มีโอกาสเป็นไปได้เพราะถ้าพิจารณาจาก 1.Dotplot ของเฟดนการประชุมล่าสุด มิ.ย. คาดจะมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในปี 2566 ขึ้น 2 ครั้ง และ 2.ในอดีตรอบที่แล้ว คือ มิย.56 เฟดส่งสัญญาณเริ่ม QE tapering และใช้เวลาราว 2 ปีครึ่งกว่าที่เฟดจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก คือ ธ.ค.2558
ส่วนผลต่อตลาดทุนและตลาดเงินเมื่อคืนวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา
1.ตลาดหุ้น ปรับเพิ่มขึ้น อิงดัชนี S&P500 ยืนเหนือ 4,500 จุด และทำ All time high
2. Dollar index อ่อนค่าราว 0.4% อยู่ที่ 92.6 จุด หนุนราคา ทองคำ Gold spot ขึ้นราว 1.4%อยู่ที่ 1817 จุด
3. Bond yield สหรัฐ อายุสั้น ,กลาง ยาวปรับลง (อิงอายุ 10 ปี ขยับลงมาที่ 1.3%)
4. ราคาน้ำมันดิบยังปรับขึ้นต่อราว 2.3% จากแรงหนุน Dollar ที่อ่อน และปัจจัยฝั่ง Supply จากผลกระทบเฮอริเคน IDA