HoonSmart.com>> “บางกอก เชน ฮอสปิทอล” มั่นใจรายได้ปี 64 โต 80-100% จากตรวจโควิด-19 พุ่ง คาดไตรมาส 3 รายได้-กำไรนิวไฮ ส่วนไตรมาส 4 เริ่มรับรู้รายได้ฉีดวัคซีน ปี 65 โตไม่ต่ำกว่า 10% รับรู้ผลลงทุนจากโรงพยาบาลใหม่ หวังผู้ป่วยประกันสังคมทะลุ 1 ล้านราย ผู้ป่วยเงินสดเพิ่ม ยันไม่จำเป็นนำเข้าไฟเซอร์เอง
นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ารายได้ในปี 2564 จะเติบโตสูง 80-100% จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 9,021.36 ล้านบาท ครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งแรกของปีนี้ที่มีรายได้รวม 6,713.13 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ผู้ป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 สูงขึ้น มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 55.6% ของรายได้รวม ปัจจุบันอัตราการครองเตียงของกลุ่มโรงพยาบาลเต็มจากจำนวนที่รองรับ 1,733 เตียง ส่วนที่ร่วมกับโรงแรม (Hospitel) อยู่ 90% จากจำนวนเตียงทั้งหมด 16,633 เตียง
แนวโน้มครึ่งปีหลังมีรายได้จากการให้บริการโควิด-19 แบบครบวงจร โดยในไตรมาส 3 คาดว่าจะมีผู้ที่เข้ารับการตรวจโควิดอยู่ที่ 700,000 รายขึ้นไป นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-15 ส.ค. 2564 ให้บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 ไปแล้ว 381,294 ราย ส่วนในไตรมาส 4 จะเริ่มรับรู้รายได้จากการให้บริการฉีดวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา “ล็อตแรก ซึ่งจะทยอยฉีดและรับรู้รายได้ไปจนถึงไตรมาส 2/2565 ส่วนล็อตที่สอง บริษัทคาดว่าจะได้เพิ่มอีกประมาณ 1 ล้านโดส โดยจะเปิดจองในช่วงไตรมาส 4 นี้ และเริ่มฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/2565
“ในปี 2564 ค่อนข้างเป็นปีที่โชคดีของเรา สามารถเติบโตในทุกส่วน ทั้งจากของโรงพยาบาลเอง และที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ทำให้เราปรับเป้าหมายรายได้ขึ้นเป็น 80-100% จากเดิมตั้งไว้ที่ 10-15% ซึ่งในไตรมาส 3 รายได้และกำไรสุทธิจะเติบโตทำสถิติใหม่ต่อเนื่องจากไตรมาส 2 แนวโน้มการรับบริการตรวจยังมีอยู่มาก และโรงพยาบาลปราจีนเริ่มมีกำไรสุทธิแล้ว ทำให้รับรู้กำไรเข้ามาบางส่วน” นพ.เฉลิม กล่าว
ส่วนปี 2565 คาดว่าารายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% เท่ากับการเติบโตปกติของทุกปี แต่ก็ต้องรอดูสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ทั้งการควบคุมการแพร่ระบาด การกระจายวัคซีนต่างๆ โดยประเมินว่าโควิด-19 ยังคงมีอยู่ แต่ปริมาณอาจจะน้อยลง จากประชากรในประเทศที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มยังมีในสัดส่วนที่น้อย หรือไม่ถึง 10%
นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนผลประกอบการปี 2565 ได้แก่การเริ่มรับรู้รายได้จากการเปิดสาขาโรงพยาบาลใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี ซึ่งสามารถทำกำไรสุทธิแล้วและโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ อีกทั้งคาดว่าจะได้ปริมาณผู้ป่วยประกันสังคมที่เพิ่มเกิน 1 ล้านราย และการกลับมาของผู้ป่วยเงินสด
นพ.เฉลิม กล่าวเพิ่มเติมกรณีการนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ไฟเซอร์” ว่า ยังเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากผู้ผลิตซื้อขายกับรัฐบาลโดยตรงในปริมาณมาก เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินไปแล้ว อีกทั้งบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย ได้รับลิขสิทธิ์เป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายเพียงรายเดียวสำหรับกรณีทั่วไป ส่งผลให้บริษัทยังไม่มีเหตุที่จะต้องนำเข้ามาจำหน่ายเอง รวมถึงไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องผลกระทบจากภาวะแทรกซ้อนภายหลังฉีดวัคซีนอีกด้วย โดยมองว่ายังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ จนกว่าจะมี กฎหมายที่ชัดเจน