“ฮัทชิสัน พอร์ท”คาดยอดขนส่งสินค้าปี 64 โตต่อเนื่องหลัง7 เดือนแรกเพิ่มกว่า 14%

HoonSmart.com>>ฮัทชิสัน พอร์ทคาดยอดขนส่งสินค้าปี 64 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่7 เดือนแรกโตกว่า 14% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตั้งเป้าขยายศักยภาพการดำเนินงานของท่าเทียบเรือต่าง ๆ แตะ 6.75 ล้าน TEU ภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ เตรียมงบลงทุน 20,000 ล้านบาท พัฒนาท่าเทียบเรือ Terminal D

มร. สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือชั้นนำในประเทศไทย ระบุ ยอดการขนส่งสินค้าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 64 ขยายตัวกว่า 14% เป็นทิศทางเดียวกับภาคธุรกิจการนำเข้าของประเทศไทยที่เติบโตขึ้นกว่า 26.2% ในขณะที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 15.5%

นอกจากนั้นปริมาณการขนส่งสินค้าเข้าออกของ HPT ที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการพัฒนาศักยภาพของบริษัทเพื่อให้บริการแก่เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่พิเศษ (ULCV) ซึ่งรวมถึงเรือ MSC MINA เรือขนส่งสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ที่มีขีดความสามารถในการบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ถึง 23,256 TEUs โดยสัดส่วนของการขนส่งด้วยเรือขนส่งตู้สินค้า ขนาดใหญ่พิเศษนี้มีมากถึง 12% ของจำนวนเรือขนส่งตู้สินค้าทั้งหมดที่เทียบท่าเรือของ HPT ในครึ่งปีแรก ของปี 2564

สำหรับปี 2563 นั้น กลุ่มบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) รองรับการขนส่งตู้สินค้าได้มากกว่า 3 ล้าน TEU คิดเป็น 30% ของส่วนแบ่งการตลาดทั้งหมดของประเทศไทย บริษัทฯ มีการจ้างงานมากกว่า 1,300 ตำแหน่ง มีการใช้งานปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าจำนวน 23 คัน ในท่าเทียบเรือต่าง ๆ ของบริษัท HPT เป็นผู้ประกอบการด้านท่าเทียบเรือขนถ่ายตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดในท่าเรือแหลมฉบัง และวางแผนที่จะขยายศักยภาพการดำเนินงานของท่าเทียบเรือต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายประมาณ 6.75 ล้าน TEU ภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้

ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง ถือว่าเป็นท่าเรือหลักของประเทศไทย และยังเป็นประตูของการนำเข้า-ส่งออกของประเทศ ในปี 2563 ท่าเรือแหลมฉบังมีตู้สินค้าผ่านท่าถึง 7.6 ล้าน TEU จากปริมาณตู้สินค้าทั้งหมดของประเทศไทย 10.5 ล้าน TEU และถือเป็นท่าเรือที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 20 ของโลก และอันดับที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เรือขนส่งตู้สินค้ามากกว่า 500 ลำ เลือกใช้บริการจาก HPT ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นเรือขนส่งตู้สินค้าที่มีขนาดใหญ่พิเศษ (Ultra Large Container Vessel) มีระวางบรรทุกตู้สินค้ามากกว่า 12,500 TEU รวมทั้ง HPT ได้ขนถ่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้กับโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และขนถ่ายรถไฟฟ้าระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติให้กับโครงการรถไฟฟ้า BTS สายสีทอง รวมถึงการสนับสนุนการขนถ่ายชิ้นส่วนก่อสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันลงบนเรือขนส่งสินค้าแบบพิเศษด้วย

บริษัทได้เตรียมงบ 20,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนและพัฒนาท่าเทียบเรือชุด D (Terminal D) ของ ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย รองรับการให้บริการด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งบริษัทฯ มุ่งมั่นในการทำธุรกิจเพื่อก้าวสู่การเป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือตู้สินค้าแนวหน้าของโลก ที่ปฏิบัติงานด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางซึ่งควบคุมการปฎิบัติงานจากระยะไกลพร้อมเทคโนโลยีอัตโนมัติอันทันสมัย โดยภายในปี 2565 จะมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าเข้าประจำการที่ท่าเทียบเรือแห่งนี้อีก 4 คัน เพื่อเป็นการเสริมความมั่นใจได้ว่า HPT จะเป็นผู้ดำเนินกิจการท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือขนส่งตู้สินค้าที่มีขนาดใหญ่มากกว่า ULCV ได้