ธนาคารกลางรัสเซียได้กลายเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดในโลกและการซื้อโดยธนาคารกลางรัสเซียได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การกระจายความเสี่ยงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้รัสเซียต้องเดินหน้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจากเครมลินมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
อันที่จริงแล้วการเดินหน้าถือครองทองคำสำรองเพิ่มขึ้นของธนาคารกลางรัสเซีย ถือเป็นนโยบายที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2005 เมื่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้อนุมัติแผนการของธนาคารกลางรัสเซีย (CBR) ที่ต้องการให้สัดส่วนการถือครองทองคำของรัสเซียในเงินทุนสำรองเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า โดยในครั้งนั้นได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10% ของปริมาณเงินทุนสำรองทั้งหมด ตามข้อมูลของ World Gold Council พบว่าในปี 2005 ปริมาณทองคำสำรองของรัสเซียมีเพียงแค่ 386.9 ตัน และธนาคารกลางรัสเซียก็เริ่มทะยอยซื้อทองคำเพื่อเพิ่มปริมาณทองคำสำรองนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ปริมาณการซื้อในช่วงปี 2006-2013 อยู่ในระหว่าง 14.62 ตันจนถึงปริมาณมากสุดที่ระดับ 139.59 ตันในปี 2010
แต่รู้หรือไม่ว่า “การซื้อทองคำของธนาคารกลางรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากการคว่ำบาตรรัสเซียเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2014” จากการแทรกแซงทางการทหารของรัสเซียในยูเครน ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียถูกกำหนดโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) ประเทศอื่น ๆและองค์กรระหว่างประเทศ ทำให้ปริมาณการซื้อทองคำของธนาคารกลางรัสเซียในแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2014 ธนาคารกลางรัสเซียซื้อทองคำเพิ่มทั้งสิ้น 172.98 ตัน “ขณะที่ปี 2015-2017 ธนาคารกลางรัสเซียซื้อทองคำเพิ่มในปริมาณที่มากกว่า 200 ตันต่อปี” โดยซื้อทองคำจำนวน 206.36, 200.68 และ 223.54 ตันตามลำดับ และนั่นทำให้ปริมาณทองคำสำรองของรัสเซียเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1,838.8 ตันในปี 2017
นอกจากนี้ยังทำให้สัดส่วนของปริมาณการถือครองทองคำในปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 17.6%
ขณะที่ 2 เดือนแรกของปี 2018 ธนาคารกลางรัสเซียยังคงเดือนหน้าซื้อทองคำเพิ่มอีกจำนวน 41.70 ตัน ส่งผลให้ ณ สิ้นสุดเดือนก.พ. ปี 2018 ธนาคารกลางรัสเซียถือครองทองคำอยู่ที่ระดับ 1,880.5 ตันแซงหน้าประเทศจีนขึ้นมาเป็นประเทศที่ถือครองทองคำสำรองมากที่สุดเป็นลำดับที่ 5 ของโลก(ไม่นับการถือครองทองของ IMF)
ธนาคารกลางรัสเซียเคยระบุว่า ทางธนาคารกลางเข้าซื้อทองคำเพื่อกระจายทุนสำรองเนื่องจากทองคำมีความน่าดึงดูดในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดจากความเสี่ยงทางกฎหมายและความเสี่ยงทางการเมือง โดยในปี 2016 รองผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซียกล่าวว่า ธนาคารกลางรัสเซียพร้อมที่จะซื้อทองจากธนาคารพาณิชย์ต่อไป แต่ไม่ได้กำหนดโควต้าหรือเป้าหมายสัดส่วนของทองคำในทุนสำรองของรัสเซีย ด้าน Maksim Osadchiy หัวหน้าแผนกวิเคราะห์ของ BKF Bank เคยให้สัมภาษณ์ต่อ RT ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลรัสเซียว่า ความวิตกกังวลว่าสินทรัพย์ของรัสเซียในต่างประเทศจะถูกอายัดในกรณีที่มีการคว่ำบาตรเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ทางการรัสเซียเพิ่มการถือครองในทองคำ
และจากสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน ดูเหมือนว่ามาตรการค่ำบาตรรัสเซียจะไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ โดยเฉพาะในปีนี้ซึ่งมีหลากหลายเหตุการณ์ที่ทำให้รัสเซียต้องถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากกรณีที่สหรัฐและ 14 ชาติในสหภาพยุโรป(EU) มีมติขับนักการทูตรัสเซียออกนอกประเทศ เพื่อตอบโต้การที่รัสเซียอยู่เบื้องหลังการใช้สารพิษลอบสังหารอดีตสายลับรัสเซียและลูกสาว และล่าสุดที่เกิดเหตุประชาชนในเมืองดูมาของซีเรียถูกแก๊สพิษสังหารหมู่ ส่งผลให้ชาวซีเรียจำนวนมากเสียชีวิต ขณะที่หลายฝ่าย อาทิ อังกฤษและสหรัฐ เห็นพ้องกันว่าการโจมตีครั้งนี้เป็นฝีมือของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ผู้นำซีเรีย และมองว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลังด้วยการให้การสนับสนุนด้านอาวุธเพื่อก่อความรุนแรงดังกล่าว
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่มาที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียไปแล้วหลายครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นรัสเซีย, ค่าเงินรูเบิล และบริษัทที่ถูกสหรัฐคว่ำบาตรต่างทรุดตัวลงอย่างหนัก ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียกำลังเข้าสู้ภาวะตกต่ำมากกว่าที่เคยเป็นมา ดังนั้นเชื่อได้ว่าธนาคารของรัสเซียจะยังคงเดินหน้าถือครองทองคำเพิ่มต่อไปซึ่งนั่นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างเสถียรภาพให้กับราคาทองคำ อย่างน้อยๆก็จนกระทั่งมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะถูกยกเลิกและนั่นคงไม่ใช่เรื่องจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน
โดย บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด