วิจัยกรุงศรีเสนอ 6 มาตรการวงเงิน 7 แสนลบ.บรรเทาผลกระทบ COVID-19

HoonSmart.com>>วิจัยกรุงศรี เสนอ 6 มาตรการเยียวยา วงเงินเกือบ 7 แสนล้านบาท บรรเทาผลกระทบ COVID-19 และคาดทำให้เศรษฐกิจไทยประคองตัวอยู่ที่ 3.25% จากช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 อยู่ที่ 3.5% และเทียบกับ 3.0% หากไม่มีมาตรการ

วิจัยกรุงศรีระบุว่า ได้ศึกษาเปรียบเทียบการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 ในประเทศต่างๆ พบว่า มาตรการให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ และมาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน นับเป็น 6 มาตรการที่มีความสำคัญและนโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจยังไม่เพียงพอ

โดยทั้ง 6 มาตรการมีวงเงินรวมกันประมาณ 7 แสนล้านบาท ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ คาดว่าการใช้มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยสามารถประคองตัวอยู่ที่ 3.25% จากช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 อยู่ที่ 3.5% และเทียบกับ 3.0% หากไม่มีมาตรการ

ซึ่ง 6 มาตรการ ได้แก่ 1. การใช้เงินสำหรับผู้ติดเชื้อ หรือผู้กักตัว วงเงิน 16,000 ลบ. 2. รักษาระดับการจ้างงาน วงเงิน 285,450 ลบ. 3. การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ วงเงิน 20,000 ลบ. 4. การลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน วงเงิน 200,000 ลบ. 5.การลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ วงเงิน 43,000 ลบ. 6. การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน วงเงิน 132,000 ลบ.

ทั้งนี้แม้ทางการขยายพื้นที่ท่องเที่ยวเชื่อมกับโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ล่าสุดทางการอนุมัติแนวทาง “7+7” ให้นักท่องเที่ยวในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ หากอยู่ภูเก็ต 7 วันแรกตรวจไม่พบเชื้อ สามารถเดินทางไปพักอีก 7 วันได้ในพื้นที่ที่กำหนดใน 3 จังหวัดใกล้เคียงได้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง หาดไร่เลย์) และ พังงา โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม

วิจัยกรุงศรีคาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 อาจลดลงต่ำกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.1 แสนคน จาก 6.7 ล้านคนในปี 2563 ผลกระทบจากการระบาดที่รุนแรงและนานเกินคาดในไทย ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการมาเยือนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และกระทบกับแผนการเปิดสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ นับตั้งแต่โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และพื้นที่นำร่องอื่นๆ

ขณะที่เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม ตลาดนักท่องเที่ยวหลักจากสหรัฐฯ ได้ประกาศยกระดับคำเตือนเดินทางมาไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุดระดับ 4 เกี่ยวกับการระบาดของ COVID-19 (“Do not travel”) โดยก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรปได้ถอดไทยออกจากรายชื่อประเทศที่ปลอดภัยจากการระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ การฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวสำคัญมีแนวโน้มล่าช้าออกไป โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังประสบกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราการฉีดวัคซีนยังต่ำ และมีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน