สถาบัน-ตปท.ไล่เก็บแบงก์ใหญ่ STARK ติดดัชนีฟุตซี่ บริษัทเล็ก

HoonSmart.com>>หุ้นแบงก์เป็นพระเอก ดัชนีกลุ่มพุ่งแรง 6% ดันตลาดทะยานเฉียด 29 จุด จ่อทะลุ 1,600 จุด สถาบันไทยไล่เก็บ 5,118 ล้านบาท ต่างชาติช่วยซื้อ 2,781 ล้านบาท ความหวังเปิดเมือง ส่งออกพ.ค.โต ธปท.ยันระบบธนาคารพาณิชย์แกร่ง รับมือเศรษฐกิจชะลอตัวได้ ผ่อนปรนเกณฑ์อุ้มลูกหนี้ ลดภาระสำรอง ต่อเวลาลดส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟู ฟุตซี่เลือก KBANK-BBL พลิกล็อกจากนักวิเคราะห์คาดว่าจะหลุด บริษัทขนาดเล็กเลือก STARK 

ตลาดหุ้นวันที่ 23 ส.ค. ร้อนแรงเกินคาด เปิดตลาดมีแรงซื้อหุ้นแบงก์ และหุ้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง ผลักดันดัชนีขึ้นไปปิดที่ 1,582.07 จุด เพิ่มขึ้น 28.89 จุดหรือ +1.86% ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 114,581 ล้านบาท มาจากฝีมือสถาบันไทยซื้อมากถึง 5,118 ล้านบาท ตามด้วยต่างชาติช่วยอีก 2,781 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนไทยถือโอกาสขายทำกำไร 8,339 ล้านบาท

มาร์เก็ตติงกล่าวว่า แรงซื้อหุ้นใหญ่ที่ผลักดันให้ดัชนีฝ่าแนวต้านสำคัญที่ 1,580 จุดไปได้ มีโอกาสขึ้นไปทดสอบระดับ 1,600 จุด หากไม่มีปัจจัยลบใหม่เข้ามากระทบ ขณะที่มีความคาดหวังเรื่องการเปิดเมืองในเร็วๆนี้ หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหญ่ลดลงต่ำกว่า 18,000 ราย รวมถึงตัวเลขการส่งออกเดือน ก.ค. พุ่งขึ้น 20.7%

ขณะเดียวกันฟุตซี่ได้ประกาศรายชื่อหุ้นเข้าสู่การคำนวณดัชนีรอบใหม่ มีผลต่อราคาปิดวันที่ 17 ก.ย.นี้ โดยธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารกรุงเทพ(BBL) เข้ารอบ ผิดไปจากความคาดหมายของนักวิเคราะห์คาดว่าจะไม่ได้เข้ามาแทน หลังจากหุ้นในกระดานต่างประเทศ KBANK-F และ BBL-F ถูกถอดออก ทำให้นักลงทุนสถาบันไทยและต่างประเทศจะต้องเข้าซื้อหุ้นแบงก์ทั้งสองในกระดานหลัก เพื่อให้พอร์ตมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 170 ล้านเหรียญและ 82 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วน FTSE Small Cap ได้เลือก STARK, JMART เข้ามาและ FTREIT ถูกออก

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โดยไม่เป็นภาระของธนาคารมากนัก คาดว่าภาระสำรองหนี้จะเพิ่มไม่มากอย่างที่นักลงทุนกังวล ส่งผลดีต่อกำไรในไตรมาส 3 และ 4 เป็นต้นไป และราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ไหลลงมาแรงมาก โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ ซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (P/BV) เทรดเพียง 0.4-0.5 และ P/E ต่ำกว่า 10 เท่า โดยมีเงินปันผลระหว่างกาลปีนี้ด้วย

นางสาว สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2564 ว่า มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวและทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และสนับสนุนความต้องการสินเชื่อได้ ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์

ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/ จำนวน 60.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 72.1% จากค่าใช้จ่ายตั้งสำรองที่ลดลงเทียบกับการตั้งสำรองในระดับสูงในปีก่อน ประกอบกับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากรายได้เงินปันผลและรายได้ค่าธรรมเนียม  กำไรสุทธิที่ไม่รวมผลของรายการพิเศษปรับเพิ่มขึ้น  ตามรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.08% แต่หากตัดผลของรายการพิเศษ ROA จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.89% จากไตรมาสก่อนที่ 0.81%

บล.ทิสโก้ให้น้ำหนักกลุ่มแบงก์มากกว่าตลาด หลังธปท. ออกมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือลูกหนี้ รวมถึงการขยายระยะเวลาปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เป็นบวกต่อต้นทุนทางการเงินของกลุ่มแบงก์ หากธนาคารไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เกิดผลบวกต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2565 เฉลี่ย 12% โดยแบงก์ใหญ่จะมีupside มากกว่าธนาคารขนาดเล็ก เพราะมีขนาดของเงินฝากมากกว่า นำโดย KTB +18%, TTB และBBL +15%, SCB +12%, KBANK +10%, KKP +7% และ TISCO +6% และเป็นบวกต่อราคาเป้าหมายใกล้เคียงกันที่ราว 1%