HoonSmart.com>> “บ้านปู เพาเวอร์” ครึ่งแรกปี 64 โตแกร่ง EBITDA กว่า 2,399 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากงวดปีก่อน เตรียม COD โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก 3 แห่งภายในปี 64 “โรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา เวียดนาม-โซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น เคเซนนุมะ-ชิราคาวะ” กำลังผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ เดินหน้าขยายกำลังผลิต ต่อยอดการเติบโตจาก Banpu Ecosystem สู่เป้า 5,300 เมกะวัตต์ปี 68
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในครึ่งปีแรกของ 2564 รับรู้กำไรสุทธิ 2,160 ล้านบาท พร้อมทั้งสามารถรักษาเสถียรภาพในการผลิตและจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง โดยในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้า เอชพีซีใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในไทย ที่มีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) สูงที่อัตรา 92% และ 87% ตามลําดับ
นอกจากนี้ บริษัทฯ กำลังเดินหน้าขยายกำลังผลิตอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตพลังงานตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จในการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso) ในญี่ปุ่น ซึ่ง COD เมื่อเดือนเม.ย. โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป และนับเป็นโรงไฟฟ้า IGCC แห่งแรกที่ได้รับการพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุด ต่อมาในเดือนมิ.ย.ยังลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เบอริล (Beryl) และมานิลดรา (Manildra) ในออสเตรเลีย ซึ่งเพิ่มกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนอีก 17 เมกะวัตต์
อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้เราได้เข้าไปศึกษาระบบการซื้อ-ขายไฟฟ้าในตลาดประเทศออสเตรเลียต่อไปและล่าสุด คือ การเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 384 เมกะวัตต์ ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ทั้งหมดนี้ตอบโจทย์การขยายเมกะวัตต์ที่มีคุณภาพในประเทศที่กลุ่มบ้านปูมีฐานธุรกิจอยู่แล้ว ตามแผนกลยุทธ์การต่อยอดมูลค่าทางธุรกิจจาก Ecosystem ภายในกลุ่มบ้านปู ที่ BPP ตั้งไว้”
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ “Temple I” เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines หรือ CCGT ให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัสซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงและเป็นโรงไฟฟ้าที่จัดอยู่ในลำดับการเรียกจ่ายไฟฟ้า (Merit Order) ที่ดี เหมาะกับสภาพการแข่งขันในตลาด Electric Reliability Council of Texas หรือ ERCOT ที่มีการซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I เป็นโรงไฟฟ้าที่มีการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว พร้อมสร้างกระแสเงินสดได้ทันที โดยคาดว่าการลงทุนในครั้งนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในสัญญา และสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 4/2564
ในครึ่งปีหลังของปี 2564 โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) ในจีน กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ในช่วงทดสอบการเดินเครื่องเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้ในช่วงไตรมาส 3/2564 ด้านโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยิน (El Wind Mui Dinh) ในเวียดนาม กำลังผลิต 38 เมกะวัตต์ ที่ BPP เข้าลงทุนก่อนหน้านี้จะรับรู้รายได้ในไตรมาส 3/2564 เช่นกัน
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปีนี้มีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ได้ในช่วงไตรมาส 3/2564 รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 2 โครงการ ได้แก่ เคเซนนุมะ (Kesennuma) กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ และชิราคาวะ (Shirakawa) กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ในไตรมาส 4/2564
“ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 BPP ยังคงดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ พร้อมบริหารทั้งทีมงานและธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของเราทุกแห่งให้สามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงแสวงหาโอกาสขยายการเติบโตของกำลังผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สมดุลระหว่างพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่มีศักยภาพ โดยจะประเมินและพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างเหมาะสมแก่ผู้มีส่วนได้เสียต่อไป พร้อมกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกประเทศที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ”นายกิรณ กล่าว