HoonSmart.com>> “ไออาร์พีซี” ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ องค์กรสร้างสรรค์นวัตกรรม ต่อยอดองค์ความรู้เป็นมากกว่าผู้นำธุรกิจปิโตรเคมี-การกลั่นน้ำมัน เพิ่มพันธมิตร ชู 3 กลยุทธ์ ต่อยอดของเดิม-ขยาย Value Chain-มองหาธุรกิจใหม่ งบลงทุน 5 ปี (63-67) ตั้งไว้ 3 หมื่นล้านบาท ทุ่มโครงการ UCF 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท ไตรมาส 3 สเปรดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงระดับสูง ปีนี้ตั้งเป้าขายผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ 20%
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า เพื่อรับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Megatrends) บริษัทฯได้ปรับวิสัยทัศน์ใหม่ ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2564 คือ การเป็นองค์กรที่สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว (To Shape Material and Energy Solutions in Harmony with Life) โดยมีกลยุทธ์หลัก 3 ข้อ 1.การต่อยอดของเดิมให้มีประสิทธิดียิ่งขึ้น หรือ การเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อการใช้พลังงานแห่งอนาคต ทั้งพลังงานทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน เช่น วัสดุเคลือบแผงโซลาร์เซลล์ลดความร้อน และอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรองให้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ตลอดจนการปรับปรุงกระบวนการผลิตโรงกลั่นน้ำมันให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมากขึ้น
2.การขยาย Value Chain ให้กว้างมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ อาทิ โครงการสร้างสรรค์นวัตกรรมเม็ดพลาสติก พีพี เกรด เมลต์โบลน (PP Meltblown) และ เม็ดพลาสติก พีพี เกรด สปันบอนด์ (PP Spunbond) ที่เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) โดยจะเริ่มผลิตและจำหน่ายภายในช่วงที่เหลือของปี 2564 นี้ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกแบบเม็ด มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 4,000 ตันต่อปี โดยสามารถขายให้กับผู้ผลิตหน้ากากอนามันต่อ ส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบผ้าไม่ถักทอ ที่ร่วมมือกับ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2,100 ตันต่อปี
3.บริษัทฯต้องต่อยอดองค์ความรู้ที่มีและเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร เพื่อสร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจ และสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ อาจจะเป็นในรูปแบบของการซื้อกิจการ และการร่วมทำธุรกิจกับพันธมิตร โดยมีเป้าหมายการลงทุนคือการทำหรือต่อยอด Advance Energy Solutions และ Advance Materials
“เราใช้วิสัยทัศน์ใหม่ในการขับเคลื่อนบริษัทให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับทุกชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประสบความสำเร็จ เราไม่เพียงแต่ขยายฐานจากการดำเนินธุรกิจด้านการผลิตปิโตรเคมีและการกลั่นที่เราเชี่ยวชาญมายาวนานกว่า 40 ปี และมีความมั่นคงเท่านั้น แต่เราต้องต่อยอดองค์ความรู้ที่มีพร้อมนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาประยุกต์ใช้และเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร เพื่อสร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจ และสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนจากความสมดุลของทั้งชีวิตผู้คน และสิ่งแวดล้อม”นายชวลิตกล่าว
สำหรับเงินลงทุนในระยะ 5 ปี (2563-2567) ตั้งไว้ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะใช้ในโครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) ประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท และที่เหลือจะใช้ตามแผนการดำเนินงาน ทั้งการซ่อมบำรุง การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ รวมถึงมีเงินสำหรับไว้ซื้อกิจการ หรือร่วมลงทุนกับพันธมิตรด้วย
ส่วนทิศทางการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 คาดว่าจะใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก หรืออาจจะปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากที่มีรายได้จากการขายสุทธิอยู่ที่ 105,246 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่และระลอกใหม่ โดยเฉพาะในไตรมาส 3 บริษัทจะพยายามควบคุมปริมาณการซื้อขายผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในระดับที่ทรงตัว คาดว่าส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (Spread) ยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ไม่สูงเท่ากับไตรมาส 1 และ 2 นอกจากนี้ตั้งเป้ารายได้จากการขายสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์พิเศษในปี 2564 ที่ระดับ 20% เป้าหมายลดลงบ้าง เนื่องจากโดนผลกระทบจากการล็อกดาวน์