HoonSmart.com>> “ปตท.” คาดรายได้ครึ่งปีหลังใกล้เคียงครึ่งปีแรกที่ทำได้ 1.01 ล้านล้านบาท แนวโน้มราคา-ปริมาณขายของทุกกลุ่มธุรกิจดี คาดราคาน้ำมันดิบปีนี้เฉลี่ย 63-68 เหรียญฯ แผน 5 ปี (64-68) กลุ่มปตท.ตั้งงบลงทุนรวม 8.65 แสนล้านบาท งบของปตท. -บริษัทย่อยอีก 1.17 แสนล้านบาท ลงทุนขยายการเติบโตสู่ธุรกิจพลังงานในอนาคตเป้ากำไรแตะ 30% ของกำไรรวม ยันมีเงินทุนเพียงพอ ไม่เพิ่มทุน กระแสเงินสดแกร่ง-กู้เพิ่มได้อีก
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลดำเนินงานปี 2564 คาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่าปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 1,633,977.16 ล้านบาท เนื่องจากกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นเติบโต ทั้งจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการ รวมถึงราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ถ้าเหตุการณ์ที่กระทบต่อราคาข้างต้น คาดว่าผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง จะใกล้เคียงครึ่งแรกที่มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 1,011,093 ล้านบาท
ทั้งนี้ในปี 2564 คาดการณ์ทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 63-68 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากปีก่อนเฉลี่ยที่ 42.2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล , ค่าการกลั่นตลาดสิงคโปร์ GRM อยู่ที่ 2-2.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากปีก่อนอยู่ที่ 0.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล , ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) อยู่ที่ 12.4-13.8 ล้านบีทียู จากปีก่อนอยู่ที่ 4.3 ล้านบีทียู และราคา HPDE อยู่ที่ 1,100-1,150 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 880 เหรียญสหรัฐต่อตัน รวมถึงแนวโน้มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอื่นๆ อาทิ PP , BZ และ PX ก็มีแนวโน้มสูงกว่าปีก่อน
ส่วนผลงานครึ่งปี2564 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 57,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการขายจำนวน 1,011,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเกือบทั้งกลุ่มธุรกิจ ทั้งจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการและราคา โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 216,163 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และธุรกิจการกลั่นมีกำไรสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เทียบกับขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันในปีก่อน
สำหรับการลงทุนในช่วง 5 ปีนี้ (ปี 2564-2568) กลุ่ม ปตท. ตั้งงบประมาณรวมอยู่ที่ 865,000 ล้านบาท ส่วนของบริษัทฯเอง และบริษัทย่อย (ปตท.ถือหุ้น 100%) ตั้งเงินลงทุนรวมอยู่ที่ 117,840 ล้านบาท มุ่งเน้นการลงทุนตามกรอบวิสัยทัศน์ Powering Life with future energy and beyond ปรับสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับทิศทางอนาคต มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) พร้อมเป็น Regional LNG Hub เข้าสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต อาทิ ธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ลงทุนเตรียมพร้อมรองรับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนเข้าสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพตามทิศทางโลก อาทิ มุ่งสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) ในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และมุ่งขยายการค้าปลีกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก รวมถึงขยายการลุงทุนในธุรกิจ Life Science (ยา อาหารเสริม และอุปกรณ์ทางการแพทย์) ดึงความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ จับมือพันธมิตรทั้งในไทยและต่างชาติ เป็นต้น
” เรามีเป้าหมายในปี 2573 คาดว่าจะสัดส่วนกำไรสุทธิของธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy and Beyond) มากกว่า 30% ของกำไรสุทธิรวม โดยมีปริมาณก๊าซธรรมชาติอยู่ 9 ล้านต้นต่อปี ปริมาณพอร์ตพลังงานฟอสซิล และพลังงานนำมันเชื้อเพลิง อยู่ที่ 8,000 เมกะวัตต์ และพอร์ตพลังงานทดแทนอยู่ที่ 12,000 เมกะวัตต์ โดยปรับเป้าหมายขึ้นจากเดิมตั้งไว้ที่ 8,000 เมกะวัตต์ รวมตั้งเป้าลด Green House Gas ให้ได้ 15%”นายอรรถพล กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า การที่ ปตท. ให้การสนับสนุนการลงทุนของบริษัทใต้กลุ่ม ปตท. ใช้จำนวนเงินค่อนข้างสูง ซึ่งบริษัทฯยังไม่มีแผนในการเพิ่มทุน เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานมีเพียงพอต่อการลงทุน และอัตราส่วนทางการเงินอยู่ในระดับเข้มแข็ง ยังมีช่องทางในการกู้เงินเพิ่มเพื่อรองรับการลงทุนได้อีก ส่วนแผนการลงทุนต่างประเทศของกลุ่ม ปตท. ยังมีต่อเนื่อง ควบคู่กับการลงทุนในประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตให้ดียิ่งขึ้นภายในกลุ่ม ปตท.
ส่วนธุรกิจคลังเก็บ LNG Raloading Cargo ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้ว ส่งกลับไปขายแล้วที่ญี่ปุ่น ได้เงินผลต่างกำไรของราคา LNG ที่เปลี่ยนแปลงมาแล้ว เนื่องจากบริษัททำสัญญานำเข้าระยะยาว โดยการซื้อ LNG ที่ถูกเข้ามา และขายส่งออกกลับไปเมื่อราคา LNG อยู่ในระดับสูง ทำให้มีส่วนต่างกำไรเข้ามา ส่วนการร่วมลงทุนของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในโครงการ LNG Receiving Terminal 2 ที่หนองแฟบ ได้เซ็นสัญญา MOU ไปแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2565 ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 79-80%
ด้านความร่วมมือกับ Foxconn ในการร่วมกันศึกษาสร้างแพลตฟอร์มผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าครบวงจรในประเทศไทย คาดว่าเร็วๆนี้จะเห็นความชัดเจนของการร่วมลงทุน โดยบริษัทฯคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 -2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทยอยลงทุนในช่วง 5-6 ปี (2565-2570) เบื้องต้นจะช่วยกันพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถผลิตฐานที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า ให้เหมาะสมกับตัวรถยนต์ ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาผลิตลดลง และต้นทุนการผลิตถูกลงด้วย โดยความสามารถของโรงงานสามารถผลิตรถยนต์ได้อย่างครอบคลุมทั้งคัน ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการส่งออกของภูมิภาคอาเซียน คาดว่าในระยะเวลา 2 ปี (2565-2566) จะได้เริ่มเห็นรถยนต์ที่ผลิตออกมาคันแรก